6/09/2011

เรื่อง การประกันภัย (Insurance)

ใบความรู้ วิชา งานธุรกิจ (ง 30202)
เรื่อง การประกันภัย (Insurance)

ความสำคัญและประโยชน์ของการประกันภัย
ในการวางแผนทางการเงินควรคำนึงถึงความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง
ที่มีผลกระทบต่อระบบการวางแผนทางการเงินของบุคคล

การวางแผนการใช้จ่ายเงินในชีวิตประจำวัน ควรเริ่มจาก
1. เขียนรายจ่ายที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน เรียงจากความจำเป็นมากไปน้อย
2. นำรายการค่าใช้จ่ายทั้งหมดมารวมกัน และเปรียบเทียบกับรายได้ของตนเอง
3. ปรับเปลี่ยนรายจ่ายให้เมาะสมกับรายได้ที่ได้รับ
4. ควรมีการแบ่งเงินก้อนหนึ่งไว้เพื่อการออม
โดยประเมินความสามารถในการออมของตนเองว่าสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด
และควรมีการออมอย่างสม่ำเสมอ

การประกันภัย เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินต่าง
ๆ ที่ได้ทำประกันภัยไว้
โดยการเฉลี่ยหรือการกระจายความเสียหายไปยังสมาชิกที่ทำประกันภัย
โดยมีบริษัทประกันภัยเป็นผู้ทำหน้าที่เก็บเบี้ยประกันและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในสัญญา

ความสำคัญของการประกันภัย แบ่งได้ดังนี้
1. ความสำคัญของการประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัย คือ
การให้ความคุ้มครองและเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ชีวิตของตนเองและครอบครัว

2. ความสำคัญของการประกันภัยต่อสังคม คือ
เป็นหลักประกันความมั่นคงให้แก่ผู้เอาประกันภัย
และช่วยแบ่งเบาภาระของสังคมทำให้เกิดความมั่นใจ
หากเกิดอุบัติภัยและความเสียหายขึ้น
ผู้ประสบภัยจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

3. ความสำคัญของการประกันภัยต่อเศรษฐกิจ
เงินที่ได้จากการเก็บเบี้ยประกันภัย
เป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศในการกู้ยืมมาลงทุนทำธุรกิจหรือขยายธุรกิจให้มีความเจริญก้าวหน้า
สำหรับธุรกิจที่ทำการประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองในทรัพย์สินที่ได้ทำประกันภัยไว้
ทำให้เกิดความมั่นคงในกิจการ
ประโยชน์ของการประกันภัย
1. ประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัย ดังนี้
- ให้ความคุ้มครองต่อบุคคล ครอบครัวและทรัพย์สินของผู้เอาประกัน
- ช่วยปลูกฝังให้เกิดนิสัยประหยัดและช่วยให้เกิดการออม

2. ประโยชน์ต่อธุรกิจ ดังนี้
- ช่วยให้เกิดความมั่นคงในการประกอบธุรกิจ
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
เพราะผู้บริหารไม่ต้องเสียเวลาเป็นกังวลเกี่ยวกับการเสี่ยงภัย
- ช่วยในการขยายเครดิต ลดความเสี่ยงของผู้ให้กู้จากหนี้สูญ
- ช่วยให้เกิดเสถียรภาพในต้นทุนการผลิต
- ช่วยส่งเสริมธุรกิจบางประเภทให้เจริญก้าวหน้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงภัยมาก ๆ

3. ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้
- ช่วยระดมทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ
- ช่วยลดภาระแก่สังคมและรัฐบาล

การบริหารความเสี่ยงภัย
ความเสี่ยงภัย คือ โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้น
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียหรือความเสียหายทั้งทางด้านร่างกายหรือทรัพย์สิน
ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางการเงิน

ลักษณะของการเสี่ยงภัยที่สามารถจะเอาประกันภัยได้ มีดังนี้
1. ความเสี่ยงภัยนั้นควรเป็นความเสี่ยงภัยที่แท้จริงและเป็นความเสี่ยงภัยจำเพาะ
2. ความเสี่ยงภัยนั้นจะต้องมีหน่วยที่คล้ายคลึงกันเป็นจำนวนมาก
3. ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้น
ต้องเป็นอุบัติเหตุและไม่ได้เกิดจากการกระทำ โดยเจตนาของผู้เอาประกันภัย
4. ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
ต้องสามารถหาสาเหตุและประเมินความเสียหายเป็นตัวเงินได้
5. ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นต้องไม่เป็นมหันตภัย
6. ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ผู้เอาประกันต้องมีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
7. โอกาสที่จะเกิดความเสียหายต้องคำนวณหรือประมาณได้


การหาวิธีจัดการกับความเสี่ยงภัย โดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น
1. การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงภัย (RISK AVOIDANCE)
โดยการพยายามหลีกเลี่ยงงานหรือสาเหตุที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายนั้น

2. การลดความเสี่ยงภัย (RISK REDUCTION) ทำได้โดย
การป้องกันการเกิดความเสียหาย จะกระทำก่อนที่จะมีความเสียหายขึ้น เช่น
การตรวจสภาพเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพปลอดภัยอยู่เสมอ
การควบคุมความเสียหาย กระทำในขณะหรือภายหลังจากที่มีความเสียหายเกิดขึ้น
เช่นการที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำการดับเพลิงที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที
การแยกทรัพย์สิน เช่นการตั้งโรงงานและโกดังไว้คนละสถานที่

3. การรับเสี่ยงภัยไว้เอง (RISK RETENTION)
คือการรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภัยไว้เอง
เนื่องจากภัยบางอย่างอาจเล็กมาก
จนไม่จำเป็นต้องหาวีจัดการกับความเสี่ยงภัย เช่น
ความเสื่อมสภาพของวัสดุสำนักงาน
การเอาประกันภัยรถยนต์แบบมีความรับผิดชอบต่อความเสียหายส่วนแรกไม่เกิน
1,000 บาท เป็นต้น

4. การโอนความเสี่ยงภัย (RISK TRANFER)
เป็นวิธีการจัดการกับความเสี่ยงภัยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดวิธีหนึ่ง
ด้วยการโอนความเสี่ยงภัยเกี่ยวกับความเสียหายทางการเงินและความรับผิดต่าง
ๆ ไปให้บุคคลอื่นรับภาระแทน ทำได้ 2 วิธี คือ

4.1 การโอนความเสี่ยงภัยในรูปแบบของการประกันภัย (INSURANCE TRANSFER)

4.2 การโอนความเสี่ยงภัยไปให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่การประกันภัย (NON-
INSURANCE TRANSFER)
เช่น การจ้างบริษัทอื่นทำความสะอาดภายนอกอาคารสูง ๆ

การประกันภัย สามารถจำแนกได้ดังนี้
1. การประกันชีวิต (Life Insurance)
2. การประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance)


การประกันชีวิต
เป็นการบรรเทาหรือชดเชยความสูญเสียในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต
หรือสูญเสียความสามารถในการหารายได้ในอนาคต
ในรูปแบบของเงินทดแทนที่จ่ายโดยบริษัทประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
การออมทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากการประกันชีวิตเป็นผลจากจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเงินจำนวนเท่า
ๆ กันอย่าสม่ำเสมอ

ชนิดของการประกันชีวิต
1. ประกันชีวิตแบบช่วงระยะเวลา (Term) เป็นกรมธรรม์ที่มีอายุจำกัด
บริษัทจะจ่ายเงินสินไหมให้ผู้รับผลประโยชน์
หากผู้เอาประกันเสียชีวิตในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ
แต่ไม่มีเงินคืนเมื่อครบอายุกรมธรรม์ ตัวอย่างการเลือกประกันประเภทนี้
เช่น เพื่อการประกันความเสี่ยงในการผ่อนบ้าน
ถึงแม้ว่าผู้ที่เป็นรายได้หลักของครอบครัวเกิดเสียชีวิต
สมาชิกในครอบครัวซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์
จะได้เงินประกันสำหรับชำระค่าผ่อนต่อโดยไม่มีภาระทางการเงิน
2. ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ (Endowment) เป็นกรมธรรม์ที่มีอายุจำกัด
บริษัทจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้รับผลประโยชน์เมื่อเสียชีวิต
แต่หากมีชีวิตครบอายุกรมธรรม์ก็จะมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้เอาประกัน
3. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Wholelife)
เป็นการรับประกันชีวิตตลอดอายุผู้เอาประกัน (ในทางการค้า 90-99 ปี)
4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) ล้ายกับแบบออมทรัพย์
โดยบริษัทประกันชีวิตจะเก็บเบี้ยประกันจนถึงอายุระดับหนึ่งแล้วทยอยจ่ายคืนเงินให้กับผู้เอาประกัน
และอาจมีความคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติมเช่น
การประกันอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะ (Accident and dismemberment),
การประกันกรณีทุพพลภาพ (Total Disability) ,หรือ การประกันสุขภาพ (Health
Insurance)

การประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance)
แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. การประกันอัคคีภัย (Fire Insurance)
2. การประกันทางทะเลและการขนส่ง (Marine Insurance)
3. การประกันรถยนต์ (Motor Insurance)
4. การประกันเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous)

1. การประกันอัคคีภัย (Fire Insurance) หมายถึง
การประกันภัยที่คุ้มครองทรัพย์สินจากภัยไฟไหม้ ฟ้าผ่า
และการระเบิดของแก๊สที่ใช้หุงต้มหรือให้แสงสว่างเพื่อการอยู่อาศัย
และยังสามารถขยายความคุ้มครองภัยอื่น ๆ ได้อีกด้วย
2. การประกันทางทะเลและการขนส่ง (Marine Insurance)
เป็นการประกันภัยที่คุ้มครองความเสียหายของตัวเรือ
และสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่งทั้งภายในและระหว่างประเทศ
3. การประกันรถยนต์ (Motor
Insurance)จะให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถ
ผู้ขับขี่รถยนต์และผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
บุคคลภายนอกที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายหรือเมื่อรถคันที่เอาประกันสูญหาย

การประกันภัยรถยนต์ แบ่งออกเป็น
การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1) การประกันภัยรถยนต์ประเภทหนึ่ง
คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัย
ความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้หรือรถยนต์ที่ถูกโจรกรรม
และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ซึ่งผู้ขัยขี่รถจะต้องรับผิดชอบ
2) การประกันภัยประเภทสอง
คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัยเฉพาะในกรณีที่มีสาเหตุมาจากไฟไหม้หรือการโจรกรรม
และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ซึ่งผู้ขับขี่จะต้องรับผิดชอบ
3) การประกันภัยประเภทสาม
คุ้มครองเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอกซึ่งผู้ขับขี่รถจะต้องรับผิดชอบ
4) การประกันภัยประเภทสี่
คุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกเฉพาะความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก
โดยจำนวนเงินคุ้มครองจำนวน 100,000 บาท ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง

การประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance)
หมายถึงการประกันภัยรถประเภทที่
กฎหมายให้เจ้าของรถซึ่งใช้หรือมีรถไว้เพื่อใช้
ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับ ผู้ประสบภัยโดยประกัน
ภัยกับบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบ
กิจการประเภทการประกันภัยรถ
โดยรัฐบาลมีเจตจำนงเพื่อให้เกิดความคุ้มครองแก่ชีวิต
ร่างกายของประชาชนที่ประสบภัยเป็นสำคัญ


พระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.)

สรุปเหตุผลและนโยบายในการตราพระราชบัญญัติฯ ของรัฐบาลได้ดังนี้คือ

(1) เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถ
ซึ่งได้รับอันตรายความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย
ให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียหายเบื้องต้นอย่างทันท่วงทีและแน่นอน
จึงต้องตรา พระราชบัญญัตินี้ขึ้นมาบังคับ

(2) เพื่อให้พระราชบัญญัตินี้เป็นหลักประกันว่าผู้ประสบภัยจากรถ
จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียหาย
เบื้องต้นอย่างแน่นอนและทันท่วงที
และเป็นหลักประกันได้ว่าสถานพยาบาลทุกแห่งจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล
อย่างแน่นอนและรวดเร็วในการรับรักษาพยาบาลแต่ผู้ประสบภัยจากรถดังกล่าว

(3) เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจประกันภัย
ให้มีส่วนร่วมในการแบ่งเบาค่าเสียหายของผู้ประกันภัย
อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจากรถ
ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยบรรเทาภาระความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยและครอบ
ครัวแล้ว ยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในด้านสวัสดิสงเคราะห์อีกด้วย

ผู้มีหน้าที่ต้องทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.)

1. เจ้าของรถ (ผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถ)

2. ผู้เช่าซื้อรถ (ผู้ครอบครองรถในฐานะผู้เช่าซื้อรถ)

3. เจ้าของรถซึ่งนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

การฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการทำประกันภัยรถ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
พ.ศ. 2535กำหนดให้ระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท


ประเภทรถที่ต้องทําประกันภัย พ.ร.บ.

รถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. ได้แก่
รถทุกชนิดทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการ ขนส่งทางบก
กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหารที่เจ้าของมีไว้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้
ไม่ว่ารถดังกล่าวจะเดินด้วยกำลัง เครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น
เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก
หัวรถลากจูง รถพ่วง รถบดถนน รถอีแต๋น ฯลฯ

ดังนั้น รถบางประเภทที่กรมการขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียน
แต่หากเข้าข่ายว่ารถนั้นเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า
หรือพลังงานอื่น ให้จัดเป็นรถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.

รถที่รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ.

1. รถสำหรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ พระรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

2. รถของสำนักพระราชวังที่จดทะเบียน
และมีเครื่องหมายตามระเบียบที่เลขาธิการพระราชวังกำหนด

3. รถของกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการต่าง ๆ รถยนต์ทหาร

4. รถของหน่วยงานธุรการขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ
และหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระขององค์กรใด ๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

ผู้มีหน้าที่รับประกันตาม พ.ร.บ.

1. ผู้ประสบภัยจากรถอันได้แก่ ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจากรถ
ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสารคนเดินเท้า หาก
ได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย
อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดจากรถ ก็จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.
นี้

2. ทายาทของผู้ประสบภัยข้างต้น กรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต


อัตราเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ.

เนื่องจากเป็นการประกันภัยภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดให้รถทุกคันต้องทำประกันภัยความเสียหายสำหรับผู้
ประสบภัย รัฐจึงกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยภาคบังคับนี้ให้ต่ำที่สุดเพื่อจูงใจให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการประกันภัย
ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงภาคธุรกิจ
โดยให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยของ
รถเพื่อให้ธุรกิจที่รับประกันภัยประเภทนี้สามารถดำเนินการรับประกันภัยได้ด้วย
จึงเป็นที่มาของหลัก No Loss No Profit คือ
หลักของไม่ขาดทุนแต่ไม่ได้กำไร ซึ่งในการประกาศอัตราเบี้ยประกันภัยรถตาม
พ.ร.บ. กรมการประกัน
ภัยมีการพิจารณาทบทวนและปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัยให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยที่แท้จริงในปัจจุบัน
เป็นระยะๆ เช่น การเพิ่มและลดอัตราเบี้ยประกันภัยของรถบางประเภท
หรือการเพิ่มค่าเสียหายเบื้องต้น (15,000 บาท เป็น 35,000 บาท)
และค่าสินไหมทดแทนส่วนเกิน (จาก 800,000 เป็น 100,000 บาท กรณีเสียชีวิต)
และ ปัจจุบันกรมการประกันภัยมีสั่งนายทะเบียนกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย
พ.ร.บ.เป็นอัตราเบี้ยคงที่อัตราเดียวแยกตาม ประเภทรถ และลักษณะการใช้รถ
บริษัทไม่สามารถคิดเบี้ยประกันภัยต่างจากที่นายทะเบียนกำหนดได้

วิธีการจัดทำประกันภัย

1. ถ่ายเอกสารคู่มือการจดทะเบียนรถ และบัตรประจำตัวประชาชน

2. นำเอกสารไปติดต่อบริษัทประกันภัยที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยรถ
รวมถึงสาขาของบริษัททั่ว ประเทศ
แจ้งความประสงค์ของทำประกันภัยรถตามกฎหมาย

3. รับกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งจะเป็นใบเสร็จรับเงินด้วย

4. รับเครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันภัย
พร้อมตรวจสอบข้อมูลบนเครื่องหมายให้ถูกต้อง เช่น ชื่อบริษัทประกันภัย
ชื่อรถ หมายเลขทะเบียนรถ หมายเลขตัวถัง ระยะเวลาสิ้นสุด
และนำไปติดไว้ที่กระจกรถด้านใน หรือหากเป็นรถ
ประเภทอื่นที่ไม่ใช่รถยนต์ต้องติดไว้ในที่ๆ สามารถเห็นไปได้ชัดเจน

บทลงโทษสําหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญิติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
พ.ศ. 2535

เจ้าของรถหรือผู้เช่าซื้อรถผู้ใด ไม่จัดให้มีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.นี้
ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000.-บาท
ผู้ใดนำรถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันภัยตาม พ.ร.บ. นี้มาใช้
ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000.- บาท

เจ้าของรถหรือผู้เช่าซื้อรถผู้ใด
ไม่ติดเครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.นี้
ต้องระวางโทษปรับไม่ เกิน 1,000 บาท

ผู้ประสบภัยผู้ใดยื่นคำขอรับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้น
โดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อขอรับค่าเสีย
หายเบื้องต้นตามกฎหมายนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน
20,000.- บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บริษัทประกันวินาศภัยซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการรับประกันภัยรถบริษัทใดฝ่าฝืนไม่ยอมรับประกันภัยตาม
กฎหมายนี้ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 50,000.- บาท ถึง 250,000.- บาท

เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทได้รับประกันภัยไว้
หากบริษัทใดไม่จ่ายค่าเสียหายเบื้อง ต้นให้แก่ผู้ประสบภัย (หรือทายาท)
ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องขอจากผู้ประสบภัย
ต้องระวาง โทษปรับตั้งแต่ 10,000.-บาท ถึง 50,000.-บาท

ความคุ้มครองเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.

ผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น
เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บและเป็นค่าปลงศพ ในกรณีเสียชีวิต
โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด
บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย/ทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน
นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอค่าเสียหายดังกล่าวเรียกว่า
ค่าเสียหายเบื้องต้น โดยมีจำนวนเงินดังนี้

กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล
และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่ จ่ายจริง
แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพจำนวน
35,000 บาท
กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล
จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท รวมแล้วจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน
50,000 บาท

ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น

เป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว
โดยบริษัทที่ รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิดต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย/ทายาทผู้ประสบภัย
เมื่อรวมกับค่า เสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัย/ทายาทได้รับแล้ว
เป็นดังนี้
- กรณีบาดเจ็บ เป็นค่ารักษาพยาบาล
และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลรวมกับค่าสินไหมทดแทน
ไม่เกิน 50,000 บาท

- กรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จำนวน 100,000 บาท
ไม่ว่าจะมีการรักษาพยาบาลหรือไม่ ถ้ามี
ค่ารักษาพยาบาลก่อนเสียชีวิตให้นำมารวมด้วย และรวมแล้วเท่ากับ 100,000
บาท

กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย
ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
มีหน้าที่จ่ายค่า เสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย
หากผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย
หรือเจ้าของรถที่ไม่จัดให้ มีประกันภัย
หรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ เช่น รถชนแล้วหนี
หรือเจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัยไม่จ่าย ค่าเสียหาย ฯลฯ
โดยค่าเสียหายเบื้องต้นที่สามารถจ่ายได้ คือ
ค่ารักษาพยาบาลกรณีได้รับบาดเจ็บตามที่รักษาจริง ไม่เกิน 15,000 บาท
และค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต จำนวน 35,000 บาท
แต่หากผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บและต่อ มาเสียชีวิตในภายหลัง
ผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่รักษาจริงไม่เกิน
15,000 บาท และ ค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท ซึ่งรวมแล้วไม่เกินจำนวน
50,000 บาท การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจาก กองทุนฯ
ผู้ประสบภัยหรือทายาทต้องยื่นภายใน 180 วัน
นับแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น


แผนภูมิแสดงประเภทของการประกันภัย

No comments:

Post a Comment

Search for content in this blog.

Life Insurance