6/05/2011

ประกันภัยหลายรายมีหลักเกณฑ์ดังนี้

ประกันภัยหลายรายมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. ผู้เอาประกันในสัญญาประกันแต่ละรายจะต้องเป็นบุคคลๆเดียวกัน
ถ้าต่างคนต่างเอาวัตถุเดียวกันไปทำสัญญาประกันภัย ไม่ถือว่าทำสัญญาประกันภัยหลายราย เช่น แดงเป็นเจ้าของตึกได้ทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท ก. ต่อมาเขียวผู้เช่าตึกได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัท ข. กรณีนี้ไม่ใช่การประกันภัยหลายราย แต่เป็นต่างคนต่างทำสัญญาประกันภัยของตนเอง
2. เป็นการเอาทรัพย์อันเดียวทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยคนละราย
เช่น แดงเอาตึกไปประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท ก. และต่อมากับบริษัท ข. ในบางกรณีมีวัตถุเอาประกันภัยหลายอย่างในสัญญาประกันภัยฉบับเดียวกัน เช่นทำสัญญาประกันภัยตึกแถว 10 คูหา ต่อมานำตึกแถวบางห้องใน 10 คูหาไปทำสัญญาประกันภัยอย่างอื่น ดังนี้เป็นสัญญาประกันภัยหลายรายได้
3. ภัยที่รับเสี่ยงต้องเป็นภัยอันเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น ถ้าทำสัญญาประกันภัยอัคคีภัยบ้านเป็นรายแรก ต่อมาทำสัญญาประกันภัยในกรณีเกิดแผ่นดินไหว ดังนี้มิใช่ประกันภัยหลายราย
4. สัญญาประกันภัยทุกรายต้องมีผลบังคับใช้ในเวลาเกิดภัยด้วย
คือจะต้องอยู่ในอายุแห่งการรับประกันภัย ทำให้ขณะเกิดภัยผู้เอาประกันชีวิตมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป แต่ถ้าสัญญาประกันภัยบางรายสิ้นสุดลงไปแล้วหรือสัญญาเป็นโมฆะ เหลือสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพียงรายเดียวก็มิใช่สัญญาประกันภัยหลายราย

วิธีคิดค่าสินไหมทดแทนกรณีประกันหลายราย

1. ประกันภัยพร้อมกัน มาตรา870 วรรคแรก หมายถึง สัญญาประกันภัยทั้งหลาย ทำในวันเดียวกัน
ไม่ว่าเวลาใดก็ตาม การคิด ต้องถือจำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยแต่ละรายได้ตกลงให้เอาประกันภัย เทียบกับจำนวนความวินาศภัยจริง เป็นการเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทนระหว่างผู้รับประกันภัย โดยพิจารณาตามสัดส่วนผู้รับประกันภัยรายใดรับประกันภัยวงเงินมากก็ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมาก ผู้รับประกันภัยรายใดรับประกันภัยวงเงินน้อยก็ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนน้อย

ความเสียหายที่แท้จริง x จำนวนเอาประกันแต่ละราย
จำนวนเอาประกันทั้งหมด
2. ประกันภัยตามลำดับ มาตรา 870 วรรค 3 หมายถึง ทำสัญญาประกันภัยสองรายหรือมากกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน ทำประกันภัยคนละวันกัน ผู้รับประกันภัยรายแรกต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อน หากไม่พอกับความเสียหายที่แท้จริง ผู้รับประกันภัยรายถัดไปจึงจะรับผิดตามลำดับ

การสละสิทธิของผู้เอาประกันภัย

ม.871 บัญญัติว่า “ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือมากกว่านั้นพร้อมกันก็ดี หรือสืบเนื่องเป็นลำดับก็ดี ท่านว่าการที่ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งนั้น ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่นๆ”

ในกรณีมีการทำสัญญาประกันภัยหลายราย ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้รับประกันภัยทุกรายแบ่งกันชำระค่าสินไหมทดแทนตามส่วนเงินที่รับประกันภัยไว้ หรือให้ชำระก่อนหลังตามลำดับแห่งการทำสัญญา ถ้าผู้เอาประกันภัยสละสิทธิที่ตนมีอยู่ต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่ง การสละสิทธินั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่นๆ เนื่องจากความรับผิดของผู้รับประกันภัยแต่ละรายเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของผู้รับประกันภัยแต่ละรายมิใช่ความรับผิดร่วมเหมือนลูกหนี้ร่วม ซึ่งแต่ละคนต้องชำระหนี้โดยสิ้นเชิงตาม ม.291 ซึ่งเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้คนหนึ่งคนใดชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ และบรรดาลูกหนี้ร่วมทั้งหมดต้องผูกพันในหนี้นั้นทุกคน จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้น ฉะนั้น การที่ผู้เอาประกันภัยสละสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายใด สิทธินั้นเป็นอันระงับไปเฉพาะรายนั้น ส่วนผู้รับประกันภัยรายอื่นหากต้องชำระค่าสินไหมทดแทนตามส่วนของตนเพียงใดก็ยังคงต้องชำระตามส่วนนั้นอีกต่อไป และไม่ต้องชำระแทนส่วนที่นับประกันภัยอีกคนหนึ่งได้รับการปลดหนี้นั้น เช่น แดงทำสัญญาประกันภัยพร้อมกัน บริษัทจันทร์ 200,000 บาท บริษัทอังคาร 300,000 บาท บริษัทพุธ 500,000 บาท ถ้าแดงผู้เอาประกันภัยสละสิทธิที่มีต่อบริษัทจันทร์ บริษัทอังคารและบริษัทพุธก็คงรับผิดเหมือนเดิม แดงจะเรียกร้องให้บริษัทอังคารและพุธต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนเพิ่มขึ้นไม่ได้ การสละสิทธิของผู้เอาประกันภัยไม่ทำให้ความรับผิดของผู้รับประกันภัยรายอื่นเปลี่ยนแปลงไป
การสละสิทธิต่อผู้รับประกันภัยต้องแสดงเจตนาเช่นเดียวกับการปลดหนี้ ตาม ม.293 และโดยเฉพาะการประกันภัยซึ่งต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การสละสิทธิก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยตาม ม.340
ข้อสังเกต การไม่ใช้สิทธิเรียกร้องแก่ผู้รับประกันภัยยังไม่ถือว่าเป็นการสละสิทธิของผู้เอาประกันภัย
การขอลดจำนวนค่าสินไหมทดแทน
ม.874 บัญญัติว่า “ ถ้าคู่สัญญาได้กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้ ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้ลดจำนวนค่าสินไหมทดแทนก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าราคาแห่งมูลประกันภัยตามที่ตกลงกันไว้นั้นเป็นจำนวนสูงเกินไปหนัก และคืนจำนวนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนกับทั้งดอกเบี้ยด้วย”

ราคาแห่งมูลประกันภัย คือ ราคาแห่งส่วนได้เสียที่ผู้เอาประกันภัยมีอยู่ต่อวัตถุที่เอาประกันภัย คู่สัญญาอาจจะกำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้จำนวนหนึ่ง จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยก็ต้องไม่สูงเกินกว่าราคาแห่งมูลประกันภัย

มาตรานี้หมายความถึง กรณีคู่สัญญาได้กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้ และได้กำหนดจำนวนเงินซึ่งเอาราคาประกันภัยไว้เต็มราคาแห่งมูลประกันภัยหรือเท่ากับจำนวนราคาแห่งมูลประกันภัย ในกรณีเช่นนี้ ถ้าผู้รับประกันภัยสามารถพิสูจน์ได้ว่าราคาแห่งมูลประกันภัยตามที่ตกลงกันสูงมากเกินไป ผู้รับประกันภัยมีสิทธิที่จะลดจำนวนค่าสินไหมทดแทน แต่มีหน้าที่ต้องคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามส่วนของจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ขอลด และต้องเสียดอกเบี้ยด้วย ถ้าไม่ได้ตกลงกันล่วงหน้าบังคับตาม ม.7 คือ ร้อยละ 705 ต่อปี
ตัวอย่างเช่น บ้านมีราคา 300,000 บาท ทำสัญญาอัคคีภัย กำหนดมูลประกันภัยไว้ 500,000 บาท และกำหนดจำนวนเงินที่เอาประกันภัย 500,000 บาท เต็มราคามูลประกันภัย เมื่อเกิดวินาศภัย ผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่าบ้านมีราคาเพียง 300,000 บาท ทำให้ราคาประกันภัยสูงเกินถึง 200,000 บาท ผู้รับประกันภัยจึงขอลดจำนวนค่าสินไหมทดแทนลง 300,000 บาท และคืนเบี้ยประกันที่รับมาพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ได้รับเงินแต่ละงวด
ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย
1. ไม่ต้องรับผิดโดยผลของสัญญา
2. ไม่ต้องรับผิดโดยผลของกฎหมาย ม.879

1. ไม่ต้องรับผิดโดยผลของสัญญา คือ มีข้อความจำกัดความรับผิดของผู้รับ
ประกันภัยไว้ซึ่งถ้าผู้เอาประกันไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น ก็อาจทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความผิด อาจมีเงื่อนไขบังคับ ก่อนเกิดวินาศภัยหรือเงื่อนไขบังคับหลังเกิดวินาศภัยก็ได้ เงื่อนไขบังคับก่อนเกิดวินาศภัยหรือหลังเกิดวินาศภัยก็ได้ เช่น หากผู้เอาประกันนำรถยนต์ไปรับจ้างหรือให้เช่ารถ สัญญาประกันภัยไม่มีผลบังคับ ถือว่าเป็นเงื่อนไขนั้นต้องมีสภาพบังคับในตัว เช่น ถ้าผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจะไม่มีสิทธิรับค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าเงื่อนไขนั้นเป็นเพียงหน้าที่ที่ผู้เอาประกันภัยต้องปฏิบัติ หากผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตาม ผู้รับประกันภัยยังไม่หลุดพ้นความรับผิด เช่น ในกรณีรถชนห้ามเคลื่อนย้ายต้องจอดอยู่กับที่ หรือต้องแจ้งความต่อตำรวจทันที
ฎ 857/2534 เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่ว่า “ผู้เอาประกันจะต้องไม่ตกลงยินยอมเสนอหรือให้
สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทเว้นแต่บริษัทมิได้จัดการต่อการเรียกร้องนั้น” หาใช่เป็นข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย หรือเป็นเงื่อนไขที่มีความหมายในการป้องกันหรือห้ามมิให้ผู้เอาประกันสละสิทธิเรียกร้องแก่บุคคลใดอันจะมีผลถึงการรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยของผู้รับประกันภัย


เงื่อนไขต่างๆในกรมธรรม์
- ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถขนส่งสินค้าบริษัทไม่ต้องรับผิด (ฎ1006/2518)
• ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดถ้าผู้ขับรถยนต์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่หรือใบแทนใบอนุญาต (ฎ 1484/2523)
• ชาวเดนมาร์กมีใบขับขี่ของประเทศเขาแต่ไม่มีใบขับขี่ของประเทศไทยหรือนานาชาติ บริษัทปฏิเสธความรับผิดไม่ได้
• ต้องชำระดอกเบี้ยประกันให้บริษัทครบอายุ 1 ปี โดยทางบริษัทให้ผ่อนชำระเป็นรายสัปดาห์ ทั้งนี้ต้องชำระทุกงวดโดยไม่มีการพักกรมธรรม์ หากผู้เอาประกันไม่ปฏิบัติตาม ผู้เอาประกันยินดีจะให้เรียกร้องค่าเคลม ซึ่งบริษัทจ่ายไปนั้นคืนทั้งหมด (ฎ 1114/2512)
2. ไม่ต้องรับผิดโดยผลของกฎหมาย
1. ไม่ต้องรับผิดเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
ม.879 วรรคแรก บัญญัติว่า “ ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์”
ม.879 วรรคแรก แยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้
1. ความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงนี้จะต้องเกิดจากผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ จึงจะทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นผิด แต่ถ้าเกิดเพราะบุคคลอื่น แม้จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้รับประโยชน์หรือผู้เอาประกันภัย เช่น คู่สมรส บุตร หลาน ลูกจ้าง ก็ไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเกิดจากการจ้างวาน ใช้ สนับสนุนของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ เช่น ก. ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ ได้ทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย โดยระบุเป็นผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์ วันเกิดเหตุผู้เช่าซื้อใช้ให้ลูกจ้างขับรถส่งของ แล้วรถถูกชนเพราะลูกจ้างฝ่าไฟแดง ดังนั้นแม้เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของลูกจ้าง บริษัทรับประกันภัยยังต้องรับผิดต่อ ก. เพราะเหตุแห่งความประมาทไม่ได้เกิดจาก ก. ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์
ฎ 4830/2537 ความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 879 จะต้อง
เป็นผู้เอาประกันภัยเองหรือผู้รับประโยชน์จึงจะทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นผิดถ้าเป็นบุคคลอื่นๆ แม้เป็นบุคคลใกล้ชิดกับผู้เอาประกันภัยเองหรือผู้รับประโยชน์ ยังไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นผิด



ความทุจริต หมายความว่า ถ้าวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำโดยเจตนาหรือจงใจที่จะให้เกิดผลคือวินาศภัยเกิดขึ้น เช่น จุดไฟเผาบ้านที่เอาประกันอัคคีภัยไว้ หรือวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพระเป็นผลอันควรจะต้องเกิดจากการกระทำเช่นนั้น เช่น จุดไฟเผาบ้านข้างเคียงซึ่งเห็นได้ว่าอาจลุกลามมาถึงบ้านที่เอาประกันไว้
ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาที่จะได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัยด้วยหรือไม่ เช่น สามีทำประกันอัคคีภัยบ้าน ต่อมาทะเลาะวิวาทกับภริยา จึงเกิดโทสะจุดไฟเผาบ้าน ดังนี้ แม้เป็นการกระทำเพราะความโกรธ มิได้มีเจตนาที่จะเผาเพื่อเอาเงินประกัน ถือว่าเป็นการกระทำให้เกิดวินาศภัยขึ้นด้วยความทุจริตแล้ว
ฎ 5925/2538 รถยนต์ที่เอาประกันสูญหายเพราะถูก ท.ยักยอกไป ผู้เอาประกันมิได้
ฟ้องร้องหรือติดตามเอาคืนจาก ท. กลับฟ้องเรียกร้องจากบริษัทประกันภัย ยังฟังไม่ได้ว่าวินาศภัยเกิดขึ้นเพราะความทุจริตของผู้เอาประกันภัย อันเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด

ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หมายความว่า การกระทำโดยขาดความระมัดระวังซึ่งถ้าได้ใช้ความระมัดระวังเพียงเล็กน้อย วินาศภัยก็จะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้นถ้าประมาทเล่นเล่อธรรมดาไม่ถึงขั้นร้ายแรง ย่อมไม่เป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิด
กรณีต่อไปนี้ถือว่าประมาทเลินเล่อธรรมดา
- จอดรถไว้ข้างทางเพื่อไปซื้อก๋วยเตี๋ยว ร้านอยุห่างจากที่จอดรถประมาณ 30 เมตร เป็นเวลา 10 นาที ผู้เอาประกันภัยดึงกุญแจออกแต่มิได้ล็อคกุญแจประตูรถและบริเวณนั้นมีคนอยู่ ต่อมารถหาย
- การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร เช่น ป้ายห้ามกลับรถ ป้ายห้ามเลี้ยว เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้ผู้ขับรถได้ใช้ความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น ผู้เอาประกันภัยฝ่าฝืนจนเกิดอุบัติเหตุ ไม่เป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
- ผู้เอาประกันภัยไม่จ้างยามมาเฝ้าสถานที่และจัดหาเครื่องมือดับเพลิงทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยถูกวางเพลิงมาแล้วครั้งหนึ่ง ต่อมาเกิดเพลิงไหม้อีก

2. ไม่ต้องรับผิดในความไม่สมประกอบในเนื้อหาแห่งวัตถุที่เอาประกัน
ม.879 วรรคสอง บัญญัติว่า “ ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกัน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น”
มีข้อพิจารณาที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดดังนี้
1. ความวินาศภัยที่เกิดขึ้นต้องเป็นผลโดยตรงมาจากความไม่สมประกอบแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย เช่น บ้านพังหรือเสียหายเนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างรับงานไม่ดี ใช้เหล็กหรือไม้ไม่ได้คุณภาพ ฝังเสาเข็มไม่ลึกหรือบดอัดพื้นที่ก่อสร้างไม่ดี ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด แต่ถ้าเหตุนั้นเกิดแต่ภายนอก เช่น ลมพายุพัดทำให้บ้านพังเนื่องจากบ้านสร้างมานานแล้ว ดังนี้ผู้รับประกันภัยยังต้องรับผิดอยู่
2. ผู้รับประกันภัยละผู้เอาประกันภัยมิได้ตกลงกันในเรื่องนี้เป็นอย่างอื่น คือ กรณีคู่สัญญาได้ตกลงกันให้ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดในวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงจากการไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันด้วย กรณีนี้ต้องเป็นไปตามข้อตกลงนั้นและผู้รับประกันภัยจะยก ม.879 วรรคสองมาเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของตนไม่ได้
การใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต
ม. 889 บัญญัติว่า “ ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง”
ม.890 บัญญัติว่า “ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียวหรือเงินรายปีก็ได้สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา”
สัญญาประกันชีวิต คือสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์หรือผู้สืบสิทธิของเขา โดยมีอยู่ว่าผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้ตายภายในระยะเวลาหรือมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาที่กำหนดไว้ และผู้เอาประกันชีวิตตกลงจะส่งเงินซึ่งรียกว่าเบี้ยประกันภัยให้กับผู้รับประกันภัยภายในเวลาที่กำหนด
ข้อสังเกต ความมรณะที่เป็นหลักในการใช้เงินรวมถึงการที่ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญด้วย ตาม ม.61

ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยที่ไม่ต้องใช้เงิน
ม.895 บัญญัติว่า “ เมื่อใดจะต้องใช้เงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันเกิดขึ้น เว้นแต่
(1) บุคคลนั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในหนึ่งปีนับแต่วันทำสัญญา หรือ
(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกัน หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น”
มาตรานี้ใช้สำหรับสัญญาประกันชีวิตที่อาศัยความมรณะเป็นหลัก เมื่อผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตตาย ผู้รับประกันต้องใช้เงินตามสัญญา เว้นแต่มีกรณี ต่อไปนี้


1. ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ที่ถูกบุคคลอื่นเอาประกันชีวิตไว้ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม
คือการฆ่าตัวตายด้วยใจสมัครภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ทำสัญญา เหตุผลที่บัญญัติเช่นนี้เพราะเป็นทางป้องกันมิให้ผู้เอาประกันชีวิตฆ่าตัวตายเพื่อหวังให้ลูกหลานหรือผู้ที่ชอบพอรักใคร่ ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้รับเงินจากผู้รับประกันภัย ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้ประกันชีวิต นอกจากนี้การฆ่าตัวตายเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอีกด้วย
การกระทำอัตวินิบาตกรรมต้องทำโดยใจสมัคร คือ เป็นความตั้งใจหรือเจตนาของผู้นั้นที่จะให้ตนเองถึงแก่ความตาย มิใช่เพราะถูกบังคับให้ทำหรือกระทำเพราะวิกลจริต หรือมิใช่ถูกหลอกให้ทำ ดังนั้นถ้าผู้เอาประกันชีวิตเกิดความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้รับประกันภัยยังต้องรับผิดอยู่ (ฎ 667-668/2516) การฆ่าตัวตายไม่ต้องคำนึงเจตนาภายในของผู้กระทำว่าต้องการให้ทายาทได้รับเงินตามสัญญาหรือไม่ เช่น อาจฆ่าตัวตายเพราะกลุ้มใจกับปัญหาส่วนตัว ดังนี้ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด
ถาม กรณีผู้เอาประกันชีวิตลงมือฆ่าตัวตายโดยการกินยาพิษเพื่อให้สะสมในร่างกายทุกวันภายใน 1 ปีนับแต่วันทำสัญญา แต่ปรากฏว่าผู้เอาประกันชีวิตตายภายหลัง 1ปีนับแต่วันทำสัญญา ดังนี้ทายาทจะมีสิทธิได้รับใช้เงินหรือไม่
ตอบ 1) ม.895 “ เมื่อใดต้องใช้เงินในเหตุมรณะ” แสดงว่าความตายเป็นเงื่อนไขสำคัญว่าผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดตามสัญญาหรือไม่ ดังนั้นถ้าไม่ตายภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา จึงถือไม่ได้ว่ามีการตายเกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ยกเว้นความรับผิดของผู้ประกันชีวิต ผู้รับประกันชีวิตจึงต้องจ่ายเงินให้แก่ทายาท
2) ฎ.936/2536 ผู้เอาประกันชีวิตได้ลงมือกระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยใจสมัครของตนภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิต แม้ผู้เอาประกันจะถึงแก่ความตายภายหลังระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาก็ตาม ผู้รับประกันก็ได้รับการยกเว้นความรับผิด ไม่ต้องใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตาม ม.895 (1)

2. ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ที่ถูกบุคคลอื่นเอาประกันชีวิตไว้ถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
ฆ่าตายโดยเจตนาพิจารณาตาม ป.อ. ม.288,289 ตัวอย่างเช่น จำเลยสามีทำสัญญาประกันชีวิตภรรยาระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ โดยปลอมลายมือชื่อของภรรยา วงเงินตามสัญญาประกันชีวิต 1,000,000 บาท จำเลยฆ่าภรรยาโดยใช้แขนรัดคอจนหมดสติ แล้วใช้ผ้าขาวม้ารัดคอและดึงจนสุดทำให้ขาดอากาศจนถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยอุ้มภรรยานั่งเก้าอี้ผลักให้ล้ม เพื่อให้ดูเป็นอุบัติเหตุ มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

หากฆ่าโดยไม่มีเจตนา ม.290 หรือฆ่าโดยประมาท ม.291 หรือเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้จนมีผู้ถึงแก่ความตาย ม.294 หรือเจตนาทำร้ายอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้รับประกันภัยยังคงต้องใช้เงินให้แก่ผู้รับประโยชน์อยู่

ข้อสังเกต
- เจตนาฆ่าผู้เอาประกันชีวิตไม่ดูว่ามีเจตนาหวังเงินประกันชีวิตหรือไม่ ถ้ามีเจตนาฆ่าถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ยกเว้นความรับผิดแล้ว
- ผู้รับประโยชน์ไม่มีสิทธิได้รับเงินใดๆจากผู้รับประกันภัยเลย ผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องใช้เงินไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตหรือทายาทของผู้นั้น ตามวรรคท้าย
- ในกรณีทายาทผู้เอาประกันชีวิตเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตและได้ฆ่าผู้เอาประกันชีวิตตายโดยเจตนา นอกจากไม่ได้รับเงินจากผู้รับประกันภัยแล้ว ยังอาจถูกจำกัดมิให้รับมรดกในฐานเป็นผู้ไม่สมควรตาม ม. 1606 (1) ซึ่งทำให้ทายาทนั้นไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าไถ่ถอนกรมธรรม์จากผู้รับประกันภัยด้วย

No comments:

Post a Comment

Search for content in this blog.

Life Insurance