อายุความประกันวินาศภัย (มาตรา 882)
ในกรณีที่บุคคลภายนอกฟ้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย มีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 882 จะนำอายุความละเมิดตามมาตรา 448 มาบังคับใช้ไม่ได้ ดูฎีกา 4479/2533, 2904/2535
ฎีกาที่ 4479/2533 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ทำละเมิด จำเลยจะยกอายุความเรื่องละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 มาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ เมื่อความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัย และมีลักษณะเป็นการประกันวินาศภัยตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ลักษณะ 20 หมวด 2 จึงต้องนำอายุความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 882 วรรคแรก ซึ่งมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยมาปรับแก่คดี
ฎีกาที่ 2904/2535 การฟ้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคแรก หาใช่นำอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาใช้ไม่
( มีฎีกาที่ 6-8/2532, 3524/2532 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน )
ดังนั้นหากผู้ได้รับความเสียหายฟ้องทั้งผู้กระทำละเมิดและฟ้องผู้รับประกันภัยมาด้วยกัน อายุความที่จะบังคับในแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน โดยอายุความฟ้องผู้ทำละเมิด ( รวมทั้งนายจ้าง ตัวการ ฯลฯ ) มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนอายุความฟ้องผู้รับประกันภัยมีกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 882 ดูฎีกาที่ 8533/2542 (ประชุมใหญ่)
ฎีกาที่ 8533/2542 (ประชุมใหญ่) จำเลยที่1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดในฐานะเจ้าของผู้ครอบครอง นายจ้าง ตัวการ วาน ใช้ ผู้ขับขี่และผู้ควบคุม ซึ่งมีอายุความ 1ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง แสดงว่าอายุความฟ้องจำเลยทั้งสองสามารถแยกออกจากกันได้ อีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 295 บัญญัติให้อายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ฉะนั้น การฟ้องให้จำเลยที่1 รับผิดในมูลละเมิดจึงขาดอายุความ 1 ปี ย่อมเป็นคุณเฉพาะจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับการให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย
ข้อสังเกต อายุความตามมาตรา 882 เป็นอายุความฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดในค่าสินไหมทดแทนเพราะความรับผิดของผู้รับประกันภัยเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัย แต่ในกรณีที่ผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปฟ้องไล่เบี้ยเอากับผู้ทำละเมิดตามมาตรา 880 นั้น ไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 882 หากแต่ถือหลักตามกฎหมายการรับช่วงสิทธิที่ว่าผู้รับช่วงสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันที่ตนรับช่วงสิทธิมา ดังนั้นผู้รับประกันภัยต้องฟ้องผู้ทำละเมิดภายในอายุความตามมาตรา 448 เช่นเดียวกับสิทธิของผู้เอาประกันภัย ดูฎีกาที่ 2339/2533, 5813/2539, 2138/2534, 2425/2538
ฎีกาที่ 2339/2533 โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย สิทธิของโจทก์จึงต้องถูกจำกัดไม่เกินสิทธิทั้งหลายบรรดาผู้ที่เอาประกันภัยมีอยู่โดยมูลหนี้ เมื่อผู้เอาประกันภัยรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในการกระทำละเมิดตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2523 แล้วโจทก์มาฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2524 เกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ฎีกาที่ 626/2536 ผู้ต้องเสียหายจากการกระทำละเมิดสามารถฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้โดยตรงตาม ป.พ.พ.มาตรา 887 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของผู้ต้องเสียหายเข้าชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้ต้องเสียหายฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ในนามของโจทก์เองตาม ป.พ.พ.มาตรา 226 และ 880 และกรณีเช่นนี้เป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ต้องใช้อายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 คือ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย จะนำอายุความละเมิดตามมาตรา 448 มาบังคับไม่ได้
กรณีที่ผู้เอาประกันภัยไปตกลงประนีประนอมยอมความกับผู้ทำละเมิด แต่เมื่อยังไม่มีการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ สัญญาประกันภัยยังไม่ระงับ เมื่อผู้รับประกันภัยใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปฟ้องผู้ทำละเมิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ซึ่งเป็นกรณีไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ดูฎีกาที่ 440/2540
ฎีกาที่ 440/2540 จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ของ ส. ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อ ส. แม้ ส. จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย ยอมให้จำเลยซ่อมรถยนต์ของ ส. ภายหลังวันที่กรมธรรม์ประกันภัยครบกำหนดแล้วก็ตาม สิทธิของโจทก์ที่จะรับช่วงสิทธิของ ส. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่แก่จำเลยในการเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยยังคงมีอยู่ หาได้สิ้นสิทธิไป เพราะบันทึกข้อตกลงที่จำเลยยอมซิอมรถยนต์ของ ส. เป็นข้อตกลงที่ผูกพันเฉพาะจำเลยกับ ส. เมื่อจำเลยยังมิได้ปฏิบัติตามสัญญาหาได้มีผลทำให้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับ ส. สิ้นผลไปด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแมนให้แก่ ส. ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของ ส. ฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 227 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของ ส. ผู้เอาประกันภัยอันมีต่อจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ ส. ทำไว้กับจำเลย มิได้ฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเอาแก่จำเลยตามสัญญาประกันภัย สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องไว้โดยเฉพาะ จึงต้องอยู่ภายในบังคับของมาตรา 193/30 แห่ง ป.พ.พ. มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
การฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยภายใน 2 ปี ตามมาตรา 882 นี้รวมถึงคู่ความในคดีขอให้ศาลออกหมายเรียกบริษัทประกันภัยให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57 (3) ด้วย โดยต้องขอให้ออกหมายเรียกบริษัทประกันภัยให้เข้ามาในคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันที่เกิดวินาศภัย (ฎีกาที่ 5783/2540)
มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ อายุความตามมาตรา 882 เป็นอายุความในการเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีวินาศภัย ถ้าเป็นการฟ้องเรียกตามสัญญาประกันชีวิตจะนำเอาอายุความตามมาตรา 882 มาใช้บังคับไม่ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 (มาตรา 164 เดิม) ดูฎีกาที่ 2306/2532
ฎีกาที่ 2306/2532 การฟ้องเรียกเงินตามสัญญาประกันชีวิตมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป มีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164
No comments:
Post a Comment