6/05/2011

หลักสุจริตอย่างยิ่งในการทำสัญญาประกันภัย

หลักสุจริตอย่างยิ่งในการทำสัญญาประกันภัย

สัญญาประกันภัยตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความสุจริต กล่าวคือ คู่กรณีในสัญญาประกันภัยจะต้องปฏิบัติต่อกันโดยสุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้เสนอขอทำสัญญาประกันภัยและเป็นผู้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับเหตุที่เอาประกันภัย จึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงที่สมควรจะต้องเปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาว่าสมควรจะรับประกันหรือกำหนดเงื่อนไขจำนวนเบี้ยประกันให้สูงต่ำเพียงใด หากผู้เอาประกันไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงก็เท่ากับเป็นการผิดหน้าที่และอาจมีผลถึงสัญญาที่ได้ตกลงทำกันไว้ด้วย

ม.865 บัญญัติว่า “ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

จากบทบัญญัติ ม. 865 สามารถแยกอธิบายได้ดังนี้
1. ผู้มีหน้าที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริง
ในกรณีประกันวินาศภัยได้แก่ ผู้เอาประกันวินาศภัย ในกรณีประกันชีวิตได้แก่ ผู้เอา
ประกันชีวิต แต่ถ้าเอาประกันชีวิตผู้อื่นผู้มีหน้าที่ต้องเปิดเผยต้องประกอบด้วยผู้เอาประกันชีวิตและผู้ที่ถูกเอาประกันชีวิต
ฎ. 922/2542 ในสัญญาประกันชีวิตเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตน ต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ ท. ผู้เอาประกันชีวิตป่วยเป็นวัณโรคปอดซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและได้รับการรักษาเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเป็นเวลานาน แต่มิได้แจ้งข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยทราบเมื่อขอเอาประกันชีวิต ซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิที่บอกล้างนิติกรรมได้โดยมิต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันภัยจะถึงแก่ความตายหรือไม่ หรือตายด้วยเหตุใด เมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยจะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันเป็นโมฆียะต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้ เมื่อจำเลยบอกล้างสัญญาอันเป็นโมฆียะแล้วจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์

2. ข้อความที่จะต้องเปิดเผย คือ ข้อความจริงซึ่งถ้าผู้รับประกันภัยได้ทราบจะเป็นเหตุให้
ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันภัยให้สูงขึ้นหรืออาจจะบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันภัยด้วย เช่น ทำสัญญาประกันอัคคีภัยบ้าน การที่ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ที่ครอบครองบ้าน หรือวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องแถลงให้อีกฝ่ายทราบ ซึ่งถ้าผู้รับประกันภัยทราบความจริงอาจจะเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ เรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือปฏิเสธไม่ยอมรับประกันภัย
เหตุนั้นต้องสำคัญถึงขนาดที่จะสามารถจูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือปฏิเสธไม่ยอมรับประกันภัย พิจารณาจากความคิดเห็นของวิญญูชนทั่วไป มิใช่มองจากผู้รับประกันภัยหรือผู้เอาประกันภัยฝ่ายเดียว
ถาม การปกปิดว่าไม่เคยประกันภัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุกับบริษัทอื่นมาก่อน ถือเป็นข้อสำคัญที่ผู้รับประกันภัยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาด้วยได้หรือไม่
ตอบ ถือเป็นข้อสำคัญที่ผู้รับประกันอาจบอกปัดไม่ทำสัญญาด้วย (ฎ 1769/2521)

ถาม การปกปิดว่ารถยนต์ที่เอาประกันภัยเคยถูกชนมาก่อน ซึ่งหากบริษัทประกันภัยรู้ความจริง คงจะไม่ยอมรับประกันภัยในวงเงินสูงถึง 50,000 บาท ดังนี้สัญญาเป็นโมฆียะหรือไม่
ตอบ ข้อความดังกล่าวไม่ใช่เหตุสำคัญที่บริษัทประกันภัยจะเรียกเบี้ยประกันให้สูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา เพียงแต่มีผลให้บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับประกันภัยในจำนวนที่ผู้เอาประกันขอเท่านั้นเอง (ฎ 918/2519)

ถาม การปกปิดว่าเคยถูกบริษัทอื่นปฏิเสธการรับประกันชีวิต ถือเป็นข้อความที่จะต้องเปิดเผยหรือไม่
ตอบ ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ผู้ตายเคยถูกปฏิเสธการรับประกันชีวิตมาก่อนเป็นข้อสำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าขณะผู้ตายเอาประกันชีวิตครั้งสุดท้ายสุขภาพของผู้ตายสมบูรณ์หรือไม่ เพราะฉะนั้นเมื่อแพทย์ของบริษัทจำเลยตรวจดูสุขภาพของผู้ตายแล้วเสนอเรื่องให้บริษัทจำเลย จนมีการอนุมัติให้ผู้ตายประกันชีวิตจึงแสดงว่าผู้ตายมีสุขภาพสมบูรณ์ (ฎ 1422/2516)
ฎ 2995/2517 มีรายได้จริงปีละประมาณ 15 ล้านบาท แต่แจ้งกับผู้รับประกันว่า มีรายได้เพียงปีละประมาณ 1 ล้านบาท เป็นการแจ้งจำนวนเงินรายได้ผิดไปถึง 10 เท่าตัว ถือเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นตามที่ควรจะเรียกได้ สัญญาเป็นโมฆียะ

ผู้เอาประกันภัย ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตต้องรู้เหตุที่ปกปิดหรือแถลงข้อเท็จนั้นด้วย หมายความว่า ต้องรู้เหตุที่ปกปิดในขณะทำสัญญา คือเวลานับแต่ผู้เอาประกันภัยทำคำเสนอไปจนถึงเวลาที่ผู้รับประกันภัยส่งคำสนองมาถึงผู้เอาประกันภัย ในช่วงเวลานี้ผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วเมื่อก่อนทำสัญญาหรือขณะทำสัญญา ถ้าหากรู้เหตุภายหลังจากทำสัญญาแล้ว ถือว่าสัญญาประกันภัยนั้นสมบูรณ์ และในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่รู้ว่ามีข้อเท็จจริงเช่นนั้นก็ไม่ทำให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะ เช่นผู้เอาประกันชีวิตไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งในขณะเสนอทำสัญญา เมื่อกรอกแบบฟอร์มคำขอเอาประกันชีวิตจึงไม่ได้ระบุไว้ ดังนี้ไม่ถือเป็นว่า “รู้แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือรู้อยู่แล้วแถลงข้อความเป็นเท็จ”
ฎ. 4498/2542 แม้ตรวจพบว่ามีการอักเสบของตับ แต่ตามรายงานการตรวจของแพทย์ได้แนะนำให้ได้รับการวินิจฉัยต่อไป แสดงว่ายังไม่แน่ชัดว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคตับอักเสบหรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายทราบว่าตนป่วยเป็นโรคตับอักเสบ ดังนั้น การที่ผู้ตายมิได้แจ้งผลการตรวจโรคดังกล่าวในแบบสอบถามของจำเลย มิใช่กรณีที่ผู้ตายรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะจูงใจจำเลยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคแรก สัญญาประกันชีวิตไม่เป็นโมฆียะ จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้าง
ฎ. 6518/2545 นายแพทย์ พ. ผู้ตรวจสุขภาพและร่างกายของ อ. ก่อนทำสัญญาประกันภัย มีความเห็นว่า อ. ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนนายแพทย์ น. ตรวจร่างกาย อ. หลังจากทำสัญญาประกันภัยแล้วยืนยันว่าว่า อ. เป็นเพียงโรคประสาทเครียดสามารถรักษาให้หายขาดได้ และ ส. ตัวแทนขายประกันของจำเลยซึ่งเป็นผู้ติดต่อ อ. ทำสัญญาประกันภัย ยืนยันว่า อ. สามารถพูดคุยรู้เรื่องแบบคนธรรมดาทั่วไปและได้มีการสั่งงานให้ลูกน้องปฏิบัติได้อย่างปกติ กรณีจึงไม่อาจฟังได้ว่า อ. รู้แล้วว่าตนเจ็บป่วยเป็นโรคประสาทเครียดซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและไม่ได้ประกอบอาชีพแล้ว ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจทำให้จำเลยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยจึงไม่ตกเป็นโมฆะ
ถ้าหากขณะทำสัญญาผู้เอาประกันภัยรู้เหตุสำคัญซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา โดยเหตุนั้นเกิดขึ้นในอนาคตหรือเป็นโครงการที่ผู้เอาประกันตั้งใจจะทำในอนาคต เช่น นาย ก. ตั้งใจจะใช้บ้านของตนเปิดร้านจำหน่ายน้ำมัน ใน 1 เดือนก่อนหน้านั้นได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยโดยบริษัทตกลงอัตราเบี้ยประกันในอัตราปกติเท่าบ้านทั่วไป ถือเป็นการปกปิดข้อเท็จจริง สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะ

หากมีการปกปิดข้อเท็จจริงเกิดขึ้นหรือแถลงเท็จ ย่อมมีผลให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะโดยไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวพันระหว่างข้อความจริงที่ปกปิดหรือแถลงเท็จเลย เช่น ผู้เอาประกันชีวิตปกปิดว่าตนไม่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งถ้าบริษัทรับประกันรู้จะปฏิเสธไม่ยอมรับ ถ้าต่อมาผู้เอาประกันตายด้วยโรคอื่นเช่น โรคมะเร็งหรือถูกไฟฟ้าดูด สัญญาประกันชีวิตก็ยังคงเป็นโมฆียะ หรือทำสัญญาประกันวินาศภัยรถรับจ้างสาธารณะ โดยแถลงเท็จว่าเป็นรถยนต์ส่วนตัว เมื่อแสดงข้อความเท็จนั้นสัญญาประกันภัยย่อมเป็นโมฆียะ แม้ต่อมาจะเลิกรับส่งคนโดยสารแล้วใช้เป็นรถยนต์ส่วนตัว ก็ไม่ทำให้ผลของสัญญาประกันภัยซึ่งเป็นโมฆียะแล้วเปลี่ยนแปลงเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ได้
ตัวอย่างโรคที่เคยมีคำพิพากษาฎีกาให้ถือว่าการไม่เปิดเผยข้อความจริงถึงขนาดให้บริษัทรับประกันภัยอาจเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ทำสัญญา
- โรคลำไส้ใหญ่
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคตับแข็ง
- โรคกระเพาะอาหาร
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
- โรคมะเร็งทรวงอก
- โรงถุงลมโป่งพอง
- โรคไต
ตัวอย่างโรคที่ไม่ถึงขนาดให้บริษัทรับประกันภัยอาจเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ทำสัญญา เช่น โรคไส้เลื่อน โรคหอบหืด โรคหวัด แพ้อากาศ โรคต้อกระจกตา

3. เวลาที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริง คือ ในเวลาทำสัญญาประกันภัย ในทางปฏิบัติเริ่ม
ตั้งแต่ตอนที่ผู้เอาประกันภัยทำคำเสนอขอเอาประกันภัยกรอกข้อความต่างๆ ในแบบขอประกันภัย และมีหน้าที่นั้นตลอดไปจนกว่าผู้รับประกันภัยจะได้สนองรับคำเสนอขอเอาประกันภัย เช่น ระหว่างที่ผู้รับประกันภัยจะตอบรับ ผู้เอาประกันภัยถูกส่งให้แพทย์ตรวจสอบร่างกาย ในระหว่างนั้นผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องแจ้งความจริงที่ตนรู้ต่อแพทย์ของผู้รับประกันภัยด้วย ดังนั้นเมื่อทำสัญญาประกันภัยแล้ว ผู้เอาประกันภัยย่อมหมดหน้าที่จะต้องเปิดเผยความจริงดังกล่าว แม้จะได้ทราบข้อเท็จจริงภายหลัง ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยหรือบอกให้แก่ผู้รับประกันภัย เช่น ทำสัญญาประกันชีวิตแล้ว ต่อมาอีก 3 เดือนทราบว่าตนเป็นโรคมะเร็ง แม้อาการเจ็บป่วยของโรคมะเร็งจะเกิดขึ้นก่อนทำสัญญาประกันชีวิต ผู้เอาประกันชีวิตก็ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องที่ตนเป็นโรคมะเร็งให้ผู้รับประกันทราบ
ในกรณีที่มีการต่ออายุสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อความจริงอีกครั้งด้วยเพราะเท่ากับเป็นการทำสัญญาขึ้นมาใหม่อีก

4. ผลของการไม่เปิดเผยข้อความจริง ตามม.865 สัญญาประกันภัยจะเป็นโมฆียะต่อ
เมื่อได้ปรากฏว่าการไม่เปิดเผยความจริงหรือแถลงข้อความเท็จนั้นเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยเชื่อถือและยอมรับประกันภัยด้วยเบี้ยประกันภัยที่ต่ำกว่าที่ควร จึงจะเป็นโมฆียะ





5. การบอกล้าง ม. 865 วรรคสอง
ผู้มีหน้าที่บอกล้างสัญญาประกันภัยที่เป็นโมฆียะได้แก่ ผู้รับประกันภัย โดย
ก. ผู้รับประกันภัยจะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ผู้รับ
ประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้
ข. ถ้าผู้รับประกันภัยไม่ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำ
สัญญาประกันภัย สิทธิบอกล้างจะเป็นอันระงับไป

การบอกล้างนี้เป็นหน้าที่ของผู้รับประกันภัยที่จะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดดังกล่าว ถ้าไม่บอกล้างสิทธินั้นย่อมระงับไป ทำให้สัญญาประกันภัยที่เป็นโมฆียะเป็นสัญญาที่สมบูรณ์และผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบตามสัญญานั้น
หมายเหตุ การบอกล้างสัญญาประกันภัยที่เป็นโมฆียะแตกต่างจากนิติกรรมที่เป็นโมฆียะทั่วไป คือ นิติกรรมทั่วไปจะบอกล้างได้ยาวนานกว่า ตามม. 181 คือ 1 ปีนับแต่เวลาที่ให้สัตยาบันได้หรือ 10 ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น

5.1 ระยะเวลาที่อาจบอกล้างสัญญาประกันภัยที่เป็นโมฆียะ
กฎหมายบัญญัติว่าให้นับแต่วันทราบมูลอันบอกล้างได้ มิใช่นับแต่วันที่ทราบความจริงเพราะถ้ายอมให้ถือวันที่ผู้รับประกันภัยทราบความจริงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาหนึ่งเดือน ก็จะเป็นทางให้บริษัทประกันภัยอ้างว่าเพิ่งทราบความจริงเสมอ “มูลอันจะบอกล้าง” หมายถึง เมื่อรูปเรื่องพอมีเค้าว่าได้มีการปกปิดความจริงหรือแถลงความเท็จ บริษัทรับประกันภัยชอบที่จะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ทราบมูลนั้น ตัวอย่างเช่น นาย ก. ทำสัญญาประกันชีวิตวันที่ 3 พฤศจิกายน 2544 โดยไม่ได้แถลงข้อความจริงว่าเป็นโรคมะเร็ง ต่อมาบริษัทได้ทราบรายงานทางการแพทย์เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2544 ว่านาย ก. น่าจะเป็นโรงมะเร็งมาก่อนทำสัญญาแต่ปกปิดไว้ วันที่ 3 ธันวาคม 2544 จึงเป็นการทราบมูลอันจะบอกล้างได้แล้ว เมื่อบริษัทประกันภัยมีหนังสือบอกล้างสัญญาวันที่ 24 ธันวาคม 2544 ถือเป็นการใช้สิทธิภายในกำหนด 1 เดือนตามม. 865 วรรคสอง แล้ว

การที่ผู้รับประกันภัยได้ทราบจากรายงานแพทย์ที่ผู้รับประโยชน์ยื่นประกอบการเรียกร้องขอรับเงินกรณีผู้เอาประกันชีวิตเสียชีวิตลง ถือว่าได้ทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานการแพทย์
ฎ 1247/2514 ก. ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัท ข. โดยปกปิดเรื่องที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน ต่อมา ก. ตาย ผู้รับประโยชน์ขอให้บริษัท ข. ใช้เงินตามสัญญาและส่งรายงานการรักษาของผู้ตายครั้งสุดท้ายให้แก่ผู้รับประกันด้วย รายงานระบุสาเหตุการตายว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเมื่อ 2 ปีก่อนเคยผ่าตัดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นเวลาก่อนทำสัญญาประกันชีวิต ดังนี้บริษัทได้ทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะได้ตั้งแต่วันที่ผู้รับประโยชน์ยื่นคำขอรับประโยชน์จะอ้างว่าบริษัท ข. ไม่เชื่อรายงานแพทย์จะขอสืบสวนจนได้ความจริงแน่นอน แล้วขอถือวันเวลาที่บริษัททราบความจริงเป็นวันเริ่มต้นนับระยะเวลา 1 เดือนตามกฎหมายไม่ได้
ฎ. 3682/2545 จำเลยได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์ปกปิดไว้อันเป็นมูลที่จำเลยจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้อย่างเร็วที่สุดวันที่ 17 มกราคม 2538 เมื่อโจทก์เรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลย จำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินให้เพราโจทก์ปิดบังการป่วยเป็นโรคก่อนที่จะทำสัญญาประกันภัย ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ทำบันทึกต่อนายทะเบียนกรมการประกันภัยระบุว่าโจทก์ไปยื่นเรื่องเบิกค่ารักษาพยาบาลเป็นค่ารักษาการผ่าตัด แต่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อจากนั้นจำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 ไปยังโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดหนึ่งเดือนตามมาตรา 865 สัญญาประกันชีวิตในส่วนเพิ่มเติมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิต ในส่วนการรักษาก้อนเนื้อที่เต้านมข้างซ้ายระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมตกเป็นโมฆะ

5.2 ผลของการบอกล้าง
ม. 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าเป็นโมฆะ
มาแต่เริ่มแรกและให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้แทน”
คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม หมายความว่า กฎหมายถือเสมือนว่าคู่สัญญาทั้งสองไม่เคยทำสัญญาฉบับที่ตกเป็นโมฆียะเลย และหากฝ่ายใดได้รับเงินหรือทรัพย์สินจากอีกฝ่าย ฝ่ายนั้นจะต้องส่งคืนให้
- ในกรณีประกันวินาศภัย เมื่อมีการบอกล้างผู้รับประกันต้องคืนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับให้ผู้เอาประกันภัย ในทางตรงกันข้ามหากเกิดภัยผู้รับประกันภัยไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทน และหากมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว ผู้รับประโยชน์ก็ต้องคืนเงินให้แก่ผู้รับประกันภัย
- ในกรณีประกันชีวิต มีบทบัญญัติพิเศษ ม. 892 เมื่อมีการบอกล้างสัญญาตามม. 865 ผู้รับประกันภัยต้องคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทของผู้นั้น โดยไม่ต้องคืนเบี้ยประกัน

ความรู้ของผู้รับประกันภัย หรือบทยกเว้น ม. 865

ม. 866 บัญญัติว่า “ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดังกล่าวในมาตรา 865 นั้นก็ดี หรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์”

แม้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ถูกเอาประกันชีวิตจะได้ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือแถลงเท็จกับผู้รับประกันภัย แต่ถ้าปรากฏว่าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อเท็จจริงที่ผู้เอาประกันละเว้นไม่แจ้งหรือได้แถลงให้ทราบเป็นเท็จหรือควรจะได้รู้หากใช้ความระมัดระวังดังเช่นวิญญูชน สัญญาเป็นอันสมบูรณ์ การได้รู้ของผู้รับประกันภัยแสดงว่าผู้รับประกันภัยสมัครใจเข้าทำสัญญากับผู้เอาประกันภัย ดังนั้นจะยกเรื่องการไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือแถลงเท็จของอีกฝ่ายมาอ้างให้เกิดประโยชน์แก่ตนภายหลังไม่ได้ กฎหมายไม่ยอมให้ยกความไม่รู้เป็นข้อแก้ตัวเพื่ออ้างสัญญาเป็นโมฆียะ ดังนั้นแค่ควรรู้ได้ก็ต้องถือว่าผู้รับประกันภัยได้รู้ด้วย ตัวอย่างเช่น ก. เป็นชาวนาทำสัญญาประกันชีวิตโดยแจ้งรายได้สูงกว่าปกติความจริง เป็นการปกปิดความจริงหรือแถลงเท็จเกี่ยวกับรายได้จากการทำนา แต่กรณีนี้บริษัทประกันชีวิตอาจเปรียบเทียบฐานะของ ก. กับชาวนาคนอื่นๆได้ แต่ไม่ทำและได้สนับสนุนตามที่ ก. แจ้งมา ดังนั้นบริษัทประกันชีวิตจะมาอ้างภายหลังไม่ได้ว่าสัญญาประกันชีวิตไม่สมบูรณ์ (ฎ 2447/2516 )
ฎ 584-585/2531 ผู้เอาประกันภัยบอกแก่ผู้แทนของผู้รับประกันภัยทราบแล้วว่าโรงสีที่ตนขอเอาประกันวินาศภัยไว้ได้ให้ผู้อื่นเช่าอยู่ ผู้รับประกันภัยจะมาอ้างภายหลังว่าผู้เอาประกันไม่เปิดเผยข้อความนี้ให้ผู้รับประกันภัยทราบ เช่นนี้ อ้างไม่ได้

No comments:

Post a Comment

Search for content in this blog.

Life Insurance