6/09/2011

หลักสุจริตอย่างยิ่งในการทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความสุจริต กล่าวคือ คู่กรณีในสัญญาประกันภัยจะต้องปฏิบัติต่อกันโดยสุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้เสนอ

หลักสุจริตอย่างยิ่งในการทำสัญญาประกันภัย

สัญญาประกันภัยตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความสุจริต กล่าวคือ คู่กรณีในสัญญาประกันภัยจะต้องปฏิบัติต่อกันโดยสุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้เสนอขอทำสัญญาประกันภัยและเป็นผู้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับเหตุที่เอาประกันภัย จึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงที่สมควรจะต้องเปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาว่าสมควรจะรับประกันหรือกำหนดเงื่อนไขจำนวนเบี้ยประกันให้สูงต่ำเพียงใด หากผู้เอาประกันไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงก็เท่ากับเป็นการผิดหน้าที่และอาจมีผลถึงสัญญาที่ได้ตกลงทำกันไว้ด้วย

ม.865 บัญญัติว่า ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

จากบทบัญญัติ ม. 865 สามารถแยกอธิบายได้ดังนี้

1. ผู้มีหน้าที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริง

ในกรณีประกันวินาศภัยได้แก่ ผู้เอาประกันวินาศภัย ในกรณีประกันชีวิตได้แก่ ผู้เอา

ประกันชีวิต แต่ถ้าเอาประกันชีวิตผู้อื่นผู้มีหน้าที่ต้องเปิดเผยต้องประกอบด้วยผู้เอาประกันชีวิตและผู้ที่ถูกเอาประกันชีวิต

ฎ. 922/2542 ในสัญญาประกันชีวิตเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตน ต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ ท. ผู้เอาประกันชีวิตป่วยเป็นวัณโรคปอดซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและได้รับการรักษาเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเป็นเวลานาน แต่มิได้แจ้งข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยทราบเมื่อขอเอาประกันชีวิต ซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิที่บอกล้างนิติกรรมได้โดยมิต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันภัยจะถึงแก่ความตายหรือไม่ หรือตายด้วยเหตุใด เมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยจะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันเป็นโมฆียะต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้ เมื่อจำเลยบอกล้างสัญญาอันเป็นโมฆียะแล้วจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์

2. ข้อความที่จะต้องเปิดเผย คือ ข้อความจริงซึ่งถ้าผู้รับประกันภัยได้ทราบจะเป็นเหตุให้

ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันภัยให้สูงขึ้นหรืออาจจะบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันภัยด้วย เช่น ทำสัญญาประกันอัคคีภัยบ้าน การที่ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ที่ครอบครองบ้าน หรือวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องแถลงให้อีกฝ่ายทราบ ซึ่งถ้าผู้รับประกันภัยทราบความจริงอาจจะเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ เรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือปฏิเสธไม่ยอมรับประกันภัย

เหตุนั้นต้องสำคัญถึงขนาดที่จะสามารถจูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือปฏิเสธไม่ยอมรับประกันภัย พิจารณาจากความคิดเห็นของวิญญูชนทั่วไป มิใช่มองจากผู้รับประกันภัยหรือผู้เอาประกันภัยฝ่ายเดียว

ถาม การปกปิดว่าไม่เคยประกันภัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุกับบริษัทอื่นมาก่อน ถือเป็นข้อสำคัญที่ผู้รับประกันภัยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาด้วยได้หรือไม่

ตอบ ถือเป็นข้อสำคัญที่ผู้รับประกันอาจบอกปัดไม่ทำสัญญาด้วย (ฎ 1769/2521)

ถาม การปกปิดว่ารถยนต์ที่เอาประกันภัยเคยถูกชนมาก่อน ซึ่งหากบริษัทประกันภัยรู้ความจริง คงจะไม่ยอมรับประกันภัยในวงเงินสูงถึง 50,000 บาท ดังนี้สัญญาเป็นโมฆียะหรือไม่

ตอบ ข้อความดังกล่าวไม่ใช่เหตุสำคัญที่บริษัทประกันภัยจะเรียกเบี้ยประกันให้สูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา เพียงแต่มีผลให้บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับประกันภัยในจำนวนที่ผู้เอาประกันขอเท่านั้นเอง (ฎ 918/2519)

ถาม การปกปิดว่าเคยถูกบริษัทอื่นปฏิเสธการรับประกันชีวิต ถือเป็นข้อความที่จะต้องเปิดเผยหรือไม่

ตอบ ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ผู้ตายเคยถูกปฏิเสธการรับประกันชีวิตมาก่อนเป็นข้อสำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าขณะผู้ตายเอาประกันชีวิตครั้งสุดท้ายสุขภาพของผู้ตายสมบูรณ์หรือไม่ เพราะฉะนั้นเมื่อแพทย์ของบริษัทจำเลยตรวจดูสุขภาพของผู้ตายแล้วเสนอเรื่องให้บริษัทจำเลย จนมีการอนุมัติให้ผู้ตายประกันชีวิตจึงแสดงว่าผู้ตายมีสุขภาพสมบูรณ์ (ฎ 1422/2516)

ฎ 2995/2517 มีรายได้จริงปีละประมาณ 15 ล้านบาท แต่แจ้งกับผู้รับประกันว่า มีรายได้เพียงปีละประมาณ 1 ล้านบาท เป็นการแจ้งจำนวนเงินรายได้ผิดไปถึง 10 เท่าตัว ถือเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นตามที่ควรจะเรียกได้ สัญญาเป็นโมฆียะ

ผู้เอาประกันภัย ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตต้องรู้เหตุที่ปกปิดหรือแถลงข้อเท็จนั้นด้วย หมายความว่า ต้องรู้เหตุที่ปกปิดในขณะทำสัญญา คือเวลานับแต่ผู้เอาประกันภัยทำคำเสนอไปจนถึงเวลาที่ผู้รับประกันภัยส่งคำสนองมาถึงผู้เอาประกันภัย ในช่วงเวลานี้ผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วเมื่อก่อนทำสัญญาหรือขณะทำสัญญา ถ้าหากรู้เหตุภายหลังจากทำสัญญาแล้ว ถือว่าสัญญาประกันภัยนั้นสมบูรณ์ และในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่รู้ว่ามีข้อเท็จจริงเช่นนั้นก็ไม่ทำให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะ เช่นผู้เอาประกันชีวิตไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งในขณะเสนอทำสัญญา เมื่อกรอกแบบฟอร์มคำขอเอาประกันชีวิตจึงไม่ได้ระบุไว้ ดังนี้ไม่ถือเป็นว่า รู้แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือรู้อยู่แล้วแถลงข้อความเป็นเท็จ

ฎ. 4498/2542 แม้ตรวจพบว่ามีการอักเสบของตับ แต่ตามรายงานการตรวจของแพทย์ได้แนะนำให้ได้รับการวินิจฉัยต่อไป แสดงว่ายังไม่แน่ชัดว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคตับอักเสบหรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายทราบว่าตนป่วยเป็นโรคตับอักเสบ ดังนั้น การที่ผู้ตายมิได้แจ้งผลการตรวจโรคดังกล่าวในแบบสอบถามของจำเลย มิใช่กรณีที่ผู้ตายรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะจูงใจจำเลยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคแรก สัญญาประกันชีวิตไม่เป็นโมฆียะ จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้าง

ฎ. 6518/2545 นายแพทย์ พ. ผู้ตรวจสุขภาพและร่างกายของ อ. ก่อนทำสัญญาประกันภัย มีความเห็นว่า อ. ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนนายแพทย์ น. ตรวจร่างกาย อ. หลังจากทำสัญญาประกันภัยแล้วยืนยันว่าว่า อ. เป็นเพียงโรคประสาทเครียดสามารถรักษาให้หายขาดได้ และ ส. ตัวแทนขายประกันของจำเลยซึ่งเป็นผู้ติดต่อ อ. ทำสัญญาประกันภัย ยืนยันว่า อ. สามารถพูดคุยรู้เรื่องแบบคนธรรมดาทั่วไปและได้มีการสั่งงานให้ลูกน้องปฏิบัติได้อย่างปกติ กรณีจึงไม่อาจฟังได้ว่า อ. รู้แล้วว่าตนเจ็บป่วยเป็นโรคประสาทเครียดซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและไม่ได้ประกอบอาชีพแล้ว ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจทำให้จำเลยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยจึงไม่ตกเป็นโมฆะ

ถ้าหากขณะทำสัญญาผู้เอาประกันภัยรู้เหตุสำคัญซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา โดยเหตุนั้นเกิดขึ้นในอนาคตหรือเป็นโครงการที่ผู้เอาประกันตั้งใจจะทำในอนาคต เช่น นาย ก. ตั้งใจจะใช้บ้านของตนเปิดร้านจำหน่ายน้ำมัน ใน 1 เดือนก่อนหน้านั้นได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยโดยบริษัทตกลงอัตราเบี้ยประกันในอัตราปกติเท่าบ้านทั่วไป ถือเป็นการปกปิดข้อเท็จจริง สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะ

หากมีการปกปิดข้อเท็จจริงเกิดขึ้นหรือแถลงเท็จ ย่อมมีผลให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะโดยไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวพันระหว่างข้อความจริงที่ปกปิดหรือแถลงเท็จเลย เช่น ผู้เอาประกันชีวิตปกปิดว่าตนไม่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งถ้าบริษัทรับประกันรู้จะปฏิเสธไม่ยอมรับ ถ้าต่อมาผู้เอาประกันตายด้วยโรคอื่นเช่น โรคมะเร็งหรือถูกไฟฟ้าดูด สัญญาประกันชีวิตก็ยังคงเป็นโมฆียะ หรือทำสัญญาประกันวินาศภัยรถรับจ้างสาธารณะ โดยแถลงเท็จว่าเป็นรถยนต์ส่วนตัว เมื่อแสดงข้อความเท็จนั้นสัญญาประกันภัยย่อมเป็นโมฆียะ แม้ต่อมาจะเลิกรับส่งคนโดยสารแล้วใช้เป็นรถยนต์ส่วนตัว ก็ไม่ทำให้ผลของสัญญาประกันภัยซึ่งเป็นโมฆียะแล้วเปลี่ยนแปลงเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ได้

ตัวอย่างโรคที่เคยมีคำพิพากษาฎีกาให้ถือว่าการไม่เปิดเผยข้อความจริงถึงขนาดให้บริษัทรับประกันภัยอาจเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ทำสัญญา

- โรคลำไส้ใหญ่

- โรคเบาหวาน

- โรคความดันโลหิตสูง

- โรคตับแข็ง

- โรคกระเพาะอาหาร

- โรคพิษสุราเรื้อรัง

- โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

- โรคมะเร็งทรวงอก

- โรงถุงลมโป่งพอง

- โรคไต

ตัวอย่างโรคที่ไม่ถึงขนาดให้บริษัทรับประกันภัยอาจเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ทำสัญญา เช่น โรคไส้เลื่อน โรคหอบหืด โรคหวัด แพ้อากาศ โรคต้อกระจกตา

No comments:

Post a Comment

Search for content in this blog.

Life Insurance