6/05/2011

หลักสำคัญในกฎหมายประกันภัย

หลักสำคัญในกฎหมายประกันภัย

1. หลักส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัย
ม. 863 บัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วน
ได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรานี้กำหนดให้ผู้เอาประกันต้องมีความสัมพันธ์กับทรัพย์สินที่เอาประกันไว้หรือมีความสัมพันธ์กับชีวิตของผู้ที่ตนเอาประกันไว้ ถ้ามีวินาศภัยหรือความตายเกิดขึ้นจะมีผลกระทบมาถึงผู้เอาประกัน ที่บัญญัติเช่นนี้เพื่อเป็นการป้องกันการจงใจก่อให้เกิดวินาศภัย แก่ทรัพย์ที่เอาประกัน หรืออันตรายที่อาจเกิดแก่ผู้เอาประกันชีวิต เพื่อที่จะมีสิทธิรับเงินประกัน
ส่วนได้เสียในเหตุประกันภัย หมายถึง เมื่อมี เหตุการณ์เกิดขึ้น ผู้ใดมีส่วนที่จะได้รับประโยชน์หรือมีส่วนที่จะต้องเสียหายในเหตุการณ์นั้น ผู้นั้นย่อมมีส่วนได้เสีย สามารถเอาประกันภัยในเหตุการณ์นั้นได้ เช่น ดำเป็นเจ้าของบ้าน แดงเป็นผู้เช่าบ้าน เขียวเป็นผู้รับจำนอง ถ้าบ้านถูกไฟไหม้ ทั้งดำและแดงถูกกระทบกระเทือนจากเหตุนั้น เพราะทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์นั้น จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ส่วนได้เสีย แยกเป็น 2 กรณี คือ
1. ส่วนได้เสียในกรณีประกันวินาศภัย
2. ส่วนได้เสียในกรณีประกันชีวิต

ส่วนได้เสียซึ่งอาจเอาประกันได้
ก. กรณีประกันวินาศภัย
ม. 869 บัญญัติว่า “คำว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความ
เสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้”
ส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันได้ มีลักษณะสำคัญ คือ ความเสียหายนั้นต้องประเมินเป็นเงินได้ เช่น ทรัพย์สิน สิทธิ ผลประโยชน์หรือรายได้ใดๆ

ข. กรณีประกันชีวิต
สิทธิหน้าที่ของบุคคลพึงมีต่อกันตามกฎหมายหรือตามสัญญา ถือเป็นส่วนได้
เสียที่เอาประกันได้ เช่น สามี-ภรรยา มีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย ม. 1461 บัญญัติว่า “สามีต้องอยู่กินฉันสามีภรรยา สามีภริยาต้องอุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน” เป็นความสัมพันธ์ทางครอบครัว ดังนั้นหากมีการตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมกระทบอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน นายจ้าง-ลูกจ้างมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายและตามสัญญาต่อกันอันเกิดจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ย่อมเอาประกันชีวิตกันได้

ความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นเพียงความหวังถือเป็นส่วนได้เสียได้หรือไม่ มีข้อพิจารณาดังนี้
1. ความหวังระยะใกล้ที่ค่อนข้างแน่นอน อาจถือเป็นส่วนได้เสียที่เอาประกันภัยได้ เช่น
ประกันภัยค่านายหน้าที่หวังจะได้รับตามสัญญา ประกันภัยสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้าง
2. ความหวังในระยะไกลซึ่งไม่แน่นอน เช่น ทายาทโดยธรรมของเจ้าของทรัพย์ นำทรัพย์
ของเจ้ามรดกไปประกันภัยไม่ได้เพราะถือว่าไม่มีส่วนได้เสีย หรือการที่นายเหลืองจะเอาประกันภัยบ้านที่ตนคาดว่าจะซื้อในอีก 6 เดือน หรือ นายเหลืองตั้งใจจะแต่งงานกับน.ส.เขียวในอนาคตย่อมเอาประกันชีวิตของน.ส. เขียวไม่ได้ สรุปได้ว่าความสัมพันธ์ในลักษณะความคาดหวังฝ่ายเดียวหรือความหวังที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแล้วแต่เขาจะกรุณาหรือไม่ เอาประกันไม่ได้


2. บุคคลที่ถือได้ว่ามีส่วนได้เสีย
ก. กรณีประกันวินาศภัย
ผู้ที่เอาประกันต้องมีความสัมพันธ์กับทรัพย์สินที่เอาประกัน ซึ่งถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะทำ
ให้บุคคลนั้นเสียหาย ผู้มีส่วนได้เสียพิจารณาได้ดังนี้
1. กรรมสิทธิ์
2. สิทธิหรือประโยชน์ที่กฎหมายรับรอง
3. ความรับผิดตามกฎหมาย

1. กรรมสิทธิ์ พิจารณาจากกรรมสิทธิ์ในวัตถุที่เอาประกันอยู่ที่ใคร เช่น ก. กับ ข. ทำ
สัญญาจะซื้อจะขายกิจการโรงเลื่อยและที่ดินพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมด โดยกำหนดให้การซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกันภายหลัง ปรากฏว่าระหว่างนั้น ก. ผู้ขายได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัท ค. ประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆในโรงเลื่อย ต่อมาเกิดเหตุไฟไหม้ ก. เรียกร้องให้บริษัท ค. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน บริษัท ค. อ้างว่า ก. ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่เอาประกัน เพราะเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆในโรงเลื่อยโดยสภาพแล้วเป็นสังหาริมทรัพย์ มิใช่ทรัพย์ติดอยู่กับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นส่วนควบของโรงเลื่อย เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ตาม ม .458 จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เอาประกันอยู่ที่ ข. ผู้ซื้อแล้ว ก. จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันได้ บริษัท ค. จึงไม่มีความผูกพันกับ ก. ตามม. 863 (ฎ 5417/2537)
ฎ 3054/2525 ช. เช่ารถยนต์บรรทุกแล้วนำมาเข้าร่วมเพื่อขอจดทะเบียนวิ่งนามของห้างโจทก์
โจทก์นำรถไปประกันกับบริษัทจำเลย เห็นได้ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถ และไม่ได้เป็นผู้ใช้รถหรือรับประโยชน์จากการใช้รถ โจทก์จึงมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย
ดังนั้น ถ้าไม่ใช่เจ้าของกรมสิทธิ์ถือว่าไม่มีส่วนได้เสีย ผลคือ สัญญาประกันภัยไม่ผูกพันตาม มาตรา 863 จำเลยไม่ต้องรับผิด
ฎ 115/2521 เมื่อเจ้าของขายรถไปแล้วเจ้าของย่อมไม่มีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยรถคันนั้น สัญญาประกันภัยไม่ผูกพันผู้รับประกันให้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อผู้รับประกันภัยใช้ค่าทดแทนไปแล้ว จึงไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิฟ้องผู้ทำละเมิดให้รถคันนั้นเสียหาย
ฎ.4728/2540 โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลย หลังจากทำสัญญาประกันภัย ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยยังมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ในขณะที่จำเลยรับประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่ผูกพันคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยรับผิดตามสัญญาประกันภัย
ข้อสังเกต หากมีข้อเท็จจริงการซื้อขายสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบ ระหว่างที่ยังไม่มีการส่งมอบ ถือว่าผู้ขายมีส่วนได้เสียอยู่ เช่น
ฎ. 4830/2537 ผู้มีสิทธิเอาประกันภัยมิได้จำกัดเพียงเฉพาะผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น ผู้ที่มีความสัมพันธ์อยู่กับทรัพย์หรือสิทธิหรือผลประโยชน์หรือรายได้ใดๆซึ่งมีวินาศภัยเกิดขึ้นจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายซึ่งประมาณเป็นเงินได้ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องขนส่งสินค้าที่ขายจากกรุงเทพมหานครไปให้ผู้ซื้อที่ประเทศสิงคโปร์ โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะนำสินค้าไปมอบให้แก่ผู้ซื้อ โจทก์จึงมีสิทธิเอาประกันภัยสินค้าไว้กับจำเลย โดยมิต้องคำนึงถึงว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวจะโอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ เมื่อสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ได้
โดยปกติการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศแม้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้วตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกัน (มาตรา 458) ผู้ขายสามารถเอาประกันได้ เพราะเมื่อยังไม่มีการส่งมอบผู้ขายย่อมมีส่วนได้เสียในสินค้านั้นอยู่ หากสินค้าสูญหายหรือถูกทำลายไปก่อนส่งมอบ เช่น การซื้อขายระบบ ซี ไอ เอฟ (Cost ,Insurance ,Freight) ราคาสินค้าย่อมรวมค่าประกันภัย และค่าระวางสินค้าด้วย

2. สิทธิหรือประโยชน์ที่กฎหมายรับรอง ผู้ที่มีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมายไม่ว่าเป็นทรัพยสิทธิในบรรพ 4 ได้แก่ เช่น ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ได้ภาระจำยอม ผู้มีสิทธิอาศัย ผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดิน ผู้ทรงสิทธิเก็บกิน หรือบุคคลสิทธิ ได้แก่ ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ ผู้ยืม ผู้รับฝากทรัพย์
สำหรับผู้มีสิทธิอาศัยหากไม่ได้มีการจดทะเบียนยังไม่ถือว่ามีส่วนได้เสียในอาคารที่อาศัย คงเอาประกันภัยได้เฉพาะ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องไฟฟ้า สิ่งตกแต่งต่างๆ ภายในอาคารเท่านั้น
ฎ 2705/2516 ผู้เช่าซื้อมีสิทธิที่จะยึดถือและใช้ประโยชน์ตลอดจนต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดอันเกิดแก่รถที่เช่าซื้อมา และเมื่อใช้เงินครบย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อ จึงมีสิทธิเอาประกันภัยได้
ฎ 1788/2520 ผู้เช่าซื้อรถยนต์มีสิทธิครอบครองผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อ สามีของผู้เช่าซื้อมีส่วนได้เสียเอาประกันรถยนต์ได้
*ผู้เช่าซื้อแม้จะชำระค่าเช่าซื้อไม่หมด แม้มีบุคคลอื่นจ่ายชำระค่าเช่าซื้อให้ ก็ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

3. ความรับผิดตามกฎหมาย การที่เป็นผู้มีความรับผิดตามกฎหมายทำให้บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่ากับเป็นวินาศภัยที่กำหนดให้ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นความเสี่ยงภัยที่ไม่แน่นอน กฎหมายอนุญาตให้นำไปประกันภัยได้ในรูปแบบการประกันภัยค้ำจุน ความรับผิดทางกฎหมายในทางละเมิดและทางสัญญาด้วย เช่น ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อ ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินที่รับมอบหมายให้ดูแลรักษาหากสูญหายเสียหายต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากความประมาทเลินเล่อ เช่นแพทย์ ผู้รับขนส่ง ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตสินค้า

ข. กรณีประกันชีวิต
บุคคลเหล่านี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียเอาประกันชีวิต
1. ประกันชีวิตตนเอง บุคคลทุกคนย่อมมีส่วนได้เสียในชีวิตตนเอง ผู้เอาประกันชีวิตย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดจำนวนเงินที่ตนต้องการให้ผู้รับประกันภัยจ่ายแก่ตนเองหรือผู้รับประโยชน์ก็ได้
2. การเอาประกันชีวิตของบุคคลอื่น บุคคลที่อาจเอาประกันชีวิตบุคคลอื่นได้ต่อเมื่อมีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับผู้นั้นพอสมควร ซึ่งหากบุคคลนั้นตายจะทำให้เดือดร้อนหรือตนต้องรับผิดชอบบางประการ ได้แก่
- บุพการี-ผู้สืบสันดาน
- สามี-ภรรยา มีข้อพิจารณา 2ประการ
1) ผู้มีส่วนได้เสียพิจารณาจากการมีส่วนได้เสียในขณะทำสัญญาประกันชีวิตเป็นสำคัญ แม้ต่อมามีเหตุหย่า สัญญาประกันชีวิตยังมีผลบังคับอยู่
2) กรณีชายหญิงเป็นสามีภริยาโดยมิชอบด้วยกฎหมายจะถือมีส่วนได้เสียในชีวิตซึ่งกันและกันได้หรือไม่ มี 2 ความเห็น
ความเห็นแรก แม้เป็นสามีภริยาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียเพราะย่อมกระทบกระเทือนในความเป็นอยู่ของอีกฝ่าย
ความเห็นที่สอง ไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพราะเท่ากับไม่สนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการสมรส กำหนดเรื่องชายหญิงมีคู่สมรสได้เพียงคนเดียว
- คู่หมั้น ม. 1437 มีการคาดการณ์ได้ว่าจะสมรสในอนาคต จึงถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
- ญาติ-พี่น้อง พิจารณาตามกฎหมายลักษณะมรดก บรรพ 6 ม. 1629
- นายจ้าง-ลูกจ้าง ฎ.64/2516 ( ประชุมใหญ่ ) ประเด็นแรก ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์
จ้างคนขับรถบรรทุกน้ำมัน โจทก์ต้องรับผิดต่อการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของลูกจ้าง และต้องจ่ายเงินแก่ทายาทผู้อยู่ใต้อุปการะของลูกจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายเพราะอุบัติเหตุตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจประกาศคณะปฏิวัติ นอกจากนั้นรถของโจทก์มีราคาไม่น้อย โจทก์ต้องใช้คนขับรถที่มีความชำนาญและไว้ใจได้ โจทก์จึงมีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันชีวิตลูกจ้างดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 เพราะฉะนั้นสัญญานี้จึงใช้บังคับได้ ส่วนประเด็นที่สองที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินเต็ม 100,000 บาท ตามสัญญาหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญารายนี้เป็นสัญญาประกันอุบัติเหตุของบุคคลไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเสี่ยงภัย จึงเป็นสัญญาประกันชีวิต ซึ่งถือได้ว่าไม่ใช่สัญญาชดใช้ความเสียหาย เมื่อกำหนดเงินที่เอาประกันไว้เท่าใด ก็ต้องชดใช้ให้ตามนั้น บริษัทจำเลยจะนำสืบถึงค่าเสียหายที่แท้จริงของโจทก์ไม่ได้ จึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 100,000 บาท ตามสัญญา โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์จะต้องจ่ายเงินให้แก่ทายาทของลูกจ้างหรือไม่
ข้อสังเกต ในคดีนี้ศาลฎีกาตีความส่วนได้เสียไกลกว่าของต่างประเทศ เพราะในต่างประเทศถือหลักการประกันชีวิตได้เฉพาะลูกจ้างที่ทำหน้าที่สำคัญ (Keyman Insurance)หากนายจ้างขาดลูกจ้างจะทำให้กิจการของนายจ้างได้รับผลกระทบกระเทือน นายจ้างจึงอาจเอาประกันชีวิตลูกจ้างได้ ในกรณีนายจ้างเอาประกันชีวิตลูกจ้างได้เท่ากับเปิดโอกาสให้นายจ้างหากำไรจากชีวิตและความตายของลูกจ้างได้มาก จึงควรระบุให้เอาประกันได้เฉพาะความเสียหายที่นายจ้างได้รับจากการตายของลูกจ้าง หากกำหนดจำนวนเงินเอาประกันไว้สูงเกินควรน่าจะถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อย ตกเป็นโมฆะเฉพาะส่วนที่เกินความเสียหาย ซึ่งจะเหมาะสมและเป็นธรรมมากกว่า หรือนายจ้างอาจเลือกทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนความรับผิดที่อาจเกิดจากลูกจ้าง
- เจ้าหนี้มีส่วนได้เสียในชีวิตของลูกหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของเจ้าหนี้
- หุ้นส่วน-หุ้นส่วน

3. ต้องมีส่วนได้เสียเมื่อไร
ก. กรณีประกันวินาศภัย
ผู้เอาประกันต้องมีส่วนได้เสียในขณะทำสัญญาและขณะเกิดภัยด้วย มีข้อยกเว้นการประกันภัยบางชนิดในขณะทำสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันยังไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงในเหตุนั้นๆ เช่น ประกันภัยทางทะเล ผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียในขณะเกิดภัยเท่านั้น เพราะในการค้าระหว่างประเทศ การซื้อขายมีอยู่ตลอดเวลาในขณะที่สินค้าอยู่ระหว่างการขนส่งทางทะเล ผู้ซื้อขายอาจไม่มีโอกาสเห็นสินค้านั้นเลย และโอกาสที่จะเกิดภัยมีอยู่ทุกขณะระหว่างขนส่ง ดังนั้นผู้รับประกันจึงยอมให้ผู้ซื้อสินค้าเอาประกันก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายได้ สรุปหลักได้ดังนี้
1. ถ้าหากทรัพย์สิน สิทธิ วัตถุที่เอาประกันมีตัวตนอยู่ในขณะทำสัญญาประกันภัยแล้ ผู้เอาประกันจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันทั้งในขณะทำสัญญาและขณะเกิดภัยด้วย มิฉะนั้นสัญญาไม่ผูกพัน
2. สิ่งที่เป็นวัตถุเอาประกันภัยนั้นไม่มีตัวตนในขณะทำสัญญา แต่จะเกิดและมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ ผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียขณะเกิดภัยเท่านั้น สัญญาสมบูรณ์แล้ว

ข. กรณีประกันชีวิต
ผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียในขณะทำสัญญาประกันเท่านั้น เพราะสัญญาประกันชีวิตมีลักษณะเป็นการใช้เงินจำนวนแน่นอนตามที่กำหนดในสัญญาเสมอเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามเงื่อนไขในสัญญา ไม่มีความจำเป็นต้องตีราคาสิ่งใดอีกในขณะเกิดเหตุ ดังนั้นผู้เอาประกันชีวิตจึงมีสิทธิได้รับใช้เงินตามจำนวนที่กำหนดในสัญญาแม้ส่วนได้เสียของตนจะหมดสิ้นไปหลังจากทำสัญญาประกันชีวิตแล้วก็ตาม เช่น ขาวจดทะเบียนสมรสกับเหลือง ขาวเป็นผู้เอาประกันชีวิตเหลืองโดยระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาขาวและเหลืองหย่าขาดจากกัน ดังนี้แม้เหลืองจะตายในเวลาต่อมา ขาวยังมีสิทธิรับเงินประกันชีวิตอยู่ ถือว่าสัญญาประกันชีวิตสมบูรณ์และผูกพันตั้งแต่ต้นแล้ว

4. ผลของการทำสัญญาประกันภัยโดยไม่มีส่วนได้เสีย
ม. 863 บัญญัติว่า “สัญญาประกันภัยย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างใด” หมายความว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะเรียกร้องให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาไม่ได้ ผู้รับประกันไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เอาประกันชำระเบี้ยประกันและไม่มีหน้าที่จะต้องใช้เงินให้ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์
ถาม ถ้าผู้เอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันไปแล้ว ผู้เอาประกันจะมีทางเรียกร้องให้คืนเบี้ยประกันได้หรือไม่ อย่างไร
ตอบ ฝ่ายแรก เรียกได้ตาม ม. 406 เรื่องลาภมิควรได้ เพราะผู้รับประกันได้รับเงินโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้ผู้เอาประกันต้องเสียเปรียบ
ฝ่ายที่สอง การที่ผู้เอาประกันรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันไว้ จัดเป็นการพนันขันต่อ ดังนั้นผู้เอาประกันจะเรียกเบี้ยประกันคืนไม่ได้ ตามม. 853 บัญญัติว่า “สิ่งที่ให้กันแล้วในการพนันหรือขันต่อก็จะทวงคืนไม่ได้” ไม่ก่อให้เกิดหนี้ตามกฎหมาย
ผู้เขียนเห็นด้วยกับฝ่ายแรกที่ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้เบี้ยประกันคืนหากตนทำสัญญาประกันภัยโดยสุจริตเข้าใจว่าตนเองมีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกัน เนื่องจากความเห็นที่สองผู้รับประกันภัยมีแต่ทางได้ไม่มีทางเสีย คือ เงินที่ควรจะจ่ายตามสัญญาประกันภัยก็ไม่ต้องจ่ายให้ และเบี้ยประกนภัยที่ได้รับก็ไม่ต้องคืน ทำให้ผู้รับประกันภัยขาดความพิถีพิถันในการตรวจสอบเรื่องส่วนได้เสีย ทำให้ง่ายต่อการยกเรื่องไม่มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัยเมื่อเกิดวินาศภัย หรือผู้ที่เอาประกันชีวิตตายลง ผู้รับประกันก็ปฏิเสธการจ่ายเงินได้ อย่างไรก็ตามถ้าผู้เอาประกันไม่สุจริตรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีส่วนได้เสียแล้วยังทำสัญญาประกันภัย ก็ควรถือว่าเป็นการพนันขันต่อผู้เอาประกันจะเรียกเบี้ยประกันคืนไม่ได้ เป็นประโยชน์แก่ผู้รับประกันภัย

No comments:

Post a Comment

Search for content in this blog.

Life Insurance