6/09/2011

รอบรู้เรื่อง.....ผู้ทำบัญชี ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 โดย....อ้อยใจ แดงอินทร์ ผู้ทำบัญชี ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 หมายถึง “ ผู้รับผิดชอบในการทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญ

รอบรู้เรื่อง.....ผู้ทำบัญชี ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543

โดย....อ้อยใจ แดงอินทร์

ผู้ทำบัญชี ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 หมายถึง ผู้รับผิดชอบในการทำบัญชีของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะเป็นลูกจ้างของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหรือไม่ก็ตาม จากความหมายดังกล่าวทำให้เรามองเห็นภาระหน้าที่ของผู้ทำบัญชีที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติงานด้านวิชาชีพบัญชี ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ก่อนที่ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 จะมีการประกาศใช้ ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี (ผู้ประกอบการ) อาจจะไม่ยุ่งยากในการจัดหาบุคคลที่พอจะมีความรู้ในเรื่องการทำบัญชีมาปฏิบัติงานในหน่วยงานหรือสถานประกอบการ แต่เมื่อพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 มีการประกาศใช้และได้เน้นในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญ โดยเฉพาะ ในประเด็นคุณวุฒิ คุณสมบัติ และการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องของผู้ทำบัญชี จึงทำให้วงการวิชาชีพบัญชีได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงข้อกำหนดดังกล่าว ดังนั้นเราลองมาทำความรู้จักกับการเป็นผู้ทำบัญชี ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ดังต่อไปนี้

ผู้ทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ได้แก่ ผู้รับผิดชอบในการทำบัญชี คือ

1. ผู้ทำบัญชีที่เป็นลูกจ้าง ได้แก่ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี สมุห์บัญชี หัวหน้าแผนกบัญชี ชื่อตำแหน่งอื่น ๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการทำบัญชี

2. ผู้ทำบัญชีที่เป็นผู้รับจ้าง

2.1 กรณีจ้างสำนักงานบัญชี ผู้ทำบัญชีมีดังนี้

หัวหน้าสำนักงาน สำนักงานบัญชีที่เป็นบุคคลธรรมดา

หุ้นส่วนผู้จัดการ สำนักงานบัญชีเป็นคณะบุคคล

กรรมการ หุ้นส่วน สำนักงานบัญชีเป็นนิติบุคคล

ผู้ช่วยทำบัญชี สำนักงานรับทำบัญชีมากกว่า 100 ราย

2.2 ผู้รับจ้างทำบัญชีอิสระ

3. ทำบัญชีในฐานะอื่น ๆ เช่น กรรมการ หุ้นส่วน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นผู้ทำบัญชีได้ทำบัญชีของตนเอง

คุณสมบัติของผู้ทำบัญชี

1. มีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

2. มีความรู้ภาษาไทยเพียงพอ

3. ไม่เคยต้องโทษให้จำคุก เนื่องจากความผิดตามกฎหมายการบัญชีกฎหมายสอบบัญชี กฎหมายวิชาชีพบัญชี ยกเว้น พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

4. มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 (ใช้ตั้งแต่ 23 พ.ย. 2547 เป็นต้นไป)

คุณวุฒิของผู้ทำบัญชี

1. อนุปริญญา หรือ ปวส. บัญชี หรือเทียบเท่า เป็นผู้ทำบัญชีของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัทจำกัด ที่ตั้งตามกฎหมายไทยขนาดเล็กที่มีองค์ประกอบต่อไปนี้

1.1 ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท

1.2 สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และ

1.3 รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท

2. จบปริญญาตรีทางบัญชี หรือเทียบเท่า สำหรับกิจการต่อไปนี้ ที่ผู้ทำบัญชีต้องจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป

2.1 ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้าน หรือมีสินทรัพย์รวม หรือรายได้รวม เกิน 30 ล้าน

2.2 บริษัทมหาชนจำกัด ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

2.3 นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย

2.4 กิจการร่วมค้าประมวลรัษฎากร

2.5 ผู้ประกอบธุรกิจธนาคาร เงินทุน หลักทรัพย์ เครดิตฟองซิเอร์ ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

3. ไม่มีคุณสมบัติตาม พรบ. การบัญชี แต่ผ่านการอบรม (ไม่เกิน 8 ปี นับแต่กฎหมายประกาศใช้)

หน้าที่ของผู้ทำบัญชี

ผู้ทำบัญชีต้องแจ้งการเป็นผู้ทำบัญชี ตามพระราชบัญชีดังนี้

1. พรบ. การบัญชี 2543 กำหนดให้ผู้ทำบัญชีต้องแจ้งต่อ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยแจ้งเป็นผู้ทำบัญชี (ใช้แบบ ส.บช.5) หรือแจ้งเปลี่ยนแปลง (ใช้แบบ ส.บช. 6) ภายใน 60 วัน หากไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกิน10,000 บาท (มาตรา 27 )

2. ผู้ทำบัญชีต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีตามพรบ. วิชาชีพบัญชี 2547 (มาตรา 44) ดังนั้นผู้ทำบัญชีก็จะต้องไปแจ้งต่อ สภาวิชาชีพบัญชี หากไม่ปฏิบัติ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 40 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 69)

ค่าขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชี

- วุฒิปริญญาตรี ปีละ 500 บาท

- ต่ำกว่าปริญญาตรี ปีละ 300 บาท

ค่าสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี

- สมาชิกสามัญ ปีละ 500 บาท

- สมาชิกวิสามัญ ปีละ 500 บาท

- สมาชิกสมทบ ปีละ 300 บาท

- สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย

กำหนดจ่ายชำระค่าสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี

ปีแรก ได้ตลอดปีปฏิทิน

ปีถัดไป ภายในเดือนตุลาคมของปีนั้น แต่ไม่เกินเดือนมกราคม ของปีถัดไป

แบบฟอร์มสภาวิชาชีพบัญชี

แบบสวบช. 1 สมัครสมาชิก

สวบช. 2 ขึ้นทะเบียน

สวบช.3 ต่ออายุสมาชิก

นอกจากนี้พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 นับเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี ที่ส่งผลให้ผู้ที่มีหน้าที่ในการทำบัญชีต้องมีการตื่นตัวที่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว และในช่วงเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2551 ก็เป็นช่วงของเดือนที่นับชั่วโมงทุกรอบ 3 ปี ซึ่งครบกำหนดที่ผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าต้องมีการทำกิจกรรมที่พัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องทางวิชาชีพ

การพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพของผู้ทำบัญชี

Continuing Professional Development (CPD) คือ การกำหนดคุณสมบัติของผู้ทำบัญชีว่า จะต้องมีกิจกรรมพัฒนาความรู้ต่อเนื่องที่เกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี ตามกฎเกณฑ์ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนด ทุก ๆ รอบ 3 ปี ( 27 ชั่วโมง)

การนับชั่วโมง CPD ในแต่ละกิจกรรม

1. การอบรมหรือสัมมนา ตามระยะเวลาที่เข้าร่วมอบรม/สัมมนา

2. การเป็นอาจารย์ในสถาบันศึกษา วิชาละ 9 ชั่วโมง ไม่นับซ้ำหัวข้อเดิมและนับได้ไม่เกิน 18 ชั่วโมงใน 3 ปี (2 วิชา)

3. ศึกษาเพิ่ม คุณวุฒิสูงขึ้น

สาขาบัญชี นับได้ 27 ชั่วโมง

สาขาที่เกี่ยวข้อง นับได้ 18 ชั่วโมง

ศึกษาเพิ่ม แต่วุฒิไม่สูงกว่าเดิม นับได้ 9 ชั่วโมง

4. ศึกษารายวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี นับได้วิชาละ 6 ชั่วโมง

5. เรื่องอื่น ๆ ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

(ข้อ 1 นับเป็น CPD การบัญชี ส่วนข้อ 2-5 นับเป็น CPD อื่น ๆ )

ระยะเวลาในการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพของผู้ทำบัญชี

- ชั่วโมงทุกรอบ 3 ปี

- ปีละไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง

- ใน 3 ปี เป็นเรื่องบัญชีไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง

กิจกรรมที่สามารถนับชั่วโมง CPD

1. การบัญชี ได้แก่ วิชาเอกบังคับและเอกเลือกที่สอนในระดับไม่ต่ำกว่า ปวส. ทางการบัญชี

2. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี

3. กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร

4. เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี

วิธีการนับชั่วโมงทุกรอบ 3 ปี

1. ให้นับตามปีปฏิทิน

2. นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ของปีถัดจากการแจ้งเป็นผู้ทำบัญชี

3. สำหรับรอบ 3 ปีแรก สามารถนำชั่วโมง CPD ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2547 หรือตั้งแต่วันที่แจ้งการเป็นผู้ทำบัญชีไปรวมในรอบแรกได้

การแจ้งรายละเอียดกิจกรรม CPD

- ใช้แบบ ส.บช.7

- แจ้งทางไปรษณีย์ หรือทางอินเทอร์เน็ตใน www.dbd.go.th ภายใน 60 วัน นับแต่สิ้นปีปฏิทินของทุกปี

- เก็บหลักฐานการเข้าร่วมกิจกรรม CPD ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันสิ้นปีของวันที่สิ้นสุดการทำกิจกรรมนั้น ๆ

ส่วนแบบฟอร์มต่าง ๆ ที่ใช้สามารถ Downlod ได้ที่ นักบัญชีดอทคอม www.nukbunchee .com หรือ สภาวิชาชีพบัญชี www.fap.or.th

ดังนั้นหากเราอยู่ในวิชาชีพการบัญชีหรือเกี่ยวข้องกับการทำบัญชี ก็คงจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะปฏิบัติตนให้เป็นไปตามที่พรบ.การบัญชี พ.ศ. 2543 กำหนดไว้

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.nukbunchee .com

No comments:

Post a Comment

Search for content in this blog.

Life Insurance