2. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย หมายถึง ทำให้บุบสลายหรือทำความเสียหายแก่ตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยเจตนาเพื่อป้องกันมิให้วินาศภัยเกิดแก่ตัวทรัพย์สินนั้น ถ้าได้ทำโดยสมควรเพื่อป้องปัดภัยนั้น ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนี้ เช่น ไฟไหม้บ้านข้างเคียงและอาจลุกลามบ้านที่เอาประกันภัยได้ จึงรื้อหลังคาบ้านหรือฝาบ้านเพื่อไม่ให้ไฟลุกลามหรือช่วยไม่ให้สกัดไฟไม่ให้ลุกไหม้ ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากความเสียหายที่ต้องรื้อหลังคาบ้านหรือฝาบ้านแก่ผู้เอาประกันภัย
3. ค่าใช้จ่ายที่เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ เป็นค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งเกิดกับตัวทรัพย์ ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายประเภทนี้ด้วยแต่ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปโดยมีเหตุผลสมควรเพราะในการปัดป้องวินาศภัยมิให้เกิดขึ้นกับตัวทรัพย์ เช่น ไฟไหม้บ้านที่เอาประกันภัย จึงเช่าเครื่องดับเพลิงมาฉีดน้ำมิให้ไฟไหม้ถึงบ้าน หรือ ต้องทำลายรั้วบ้านของผู้อื่นเพื่อให้สามารถเข้าดับไฟได้
ฎ. 5743/2537 โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะที่จำเลยเป็นผู้รับประกันภัย ซึ่งการรับประกันภัยทุกรายต้องมีกรมธรรม์และมีจำนวนเงินที่เอาประกันภัยที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ และมาตรา 877 ห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามวงเงินที่จำเลยรับประกันภัยเท่าที่โจทก์มีสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัย การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดสูงกว่าจำนวนเงินที่เอาประกันภัย ย่อมเป็นการพิพากษาให้โจทก์ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเกินกว่าที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย จึงไม่ชอบ
ฎ. 381/2524 รถยนต์เป็นของโจทก์ได้ให้ผู้อื่นเช่าซื้อไป ได้เอาประกันไว้แก่จำเลยในวงเงิน 700,000 บาท โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ผู้เช่าซื้อคงค้างค่าเช่าซื้ออยู่ 562,508 บาท รถคันพิพาทก็หายไป เช่นนี้ ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีปรากฏว่าผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้รับประโยชน์เป็นเงิน 700,000 บาท เมื่อรถยนต์เกิดหายไป ผู้รับประกันภัยก็จะต้องชดใช้ตามจำนวนดังกล่าว จะใช้จำนวนตามที่ผู้เช่าซื้อค้างค่าเช่าซื้อไม่ได้
การประกันภัยหลายราย
ม. 870 บัญญัติว่า “ ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อวินาศภัยอันเดียวกัน และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้ ท่านว่าผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศภัยจริงเท่านั้น ผู้รับประกันภัยแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศภัยจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประโยชน์ไว้
อันสัญญาประกันภัยทั้งหลาย ถ้าลงวันเดียวกัน ท่านให้ถือว่าได้ทำพร้อมกัน
ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน ท่านว่าผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อนและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยนั้นไซร้ ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อๆกันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ”
ประกันวินาศภัย ผู้เอาประกันภัยจะทำสัญญาไว้กี่รายก็ได้ แต่มิใช่เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นแล้ว ผู้เอาประกันภัยจะเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนจนครบทุกราย เนื่องจาก กฎหมายถือหลักว่าผู้เอาประกันภัยจะค้ากำไรจากการเอาประกันภัยไม่ได้ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนต้องจ่ายตามจำนวนวินาศภัยที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นผู้เอาประกันภัยจึงเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แต่เฉพาะเพื่อความเสียหายที่ตนได้รับจริงเท่านั้น
ประกันชีวิต ผู้เอาประกันจะทำสัญญาประกันชีวิตกับผู้รับประกันกี่รายก็ได้และเมื่อตาย ผู้รับประโยชน์จะเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยทุกรายจ่ายตามจำนวนที่ผู้เอาประกันได้ทำสัญญาไว้ได้
ประกันภัยหลายรายมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ผู้เอาประกันในสัญญาประกันแต่ละรายจะต้องเป็นบุคคลๆเดียวกัน
ถ้าต่างคนต่างเอาวัตถุเดียวกันไปทำสัญญาประกันภัย ไม่ถือว่าทำสัญญาประกันภัยหลายราย เช่น แดงเป็นเจ้าของตึกได้ทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท ก. ต่อมาเขียวผู้เช่าตึกได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัท ข. กรณีนี้ไม่ใช่การประกันภัยหลายราย แต่เป็นต่างคนต่างทำสัญญาประกันภัยของตนเอง
2. เป็นการเอาทรัพย์อันเดียวทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยคนละราย
เช่น แดงเอาตึกไปประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท ก. และต่อมากับบริษัท ข. ในบางกรณีมีวัตถุเอาประกันภัยหลายอย่างในสัญญาประกันภัยฉบับเดียวกัน เช่นทำสัญญาประกันภัยตึกแถว 10 คูหา ต่อมานำตึกแถวบางห้องใน 10 คูหาไปทำสัญญาประกันภัยอย่างอื่น ดังนี้เป็นสัญญาประกันภัยหลายรายได้
3. ภัยที่รับเสี่ยงต้องเป็นภัยอันเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น ถ้าทำสัญญาประกันภัยอัคคีภัยบ้านเป็นรายแรก ต่อมาทำสัญญาประกันภัยในกรณีเกิดแผ่นดินไหว ดังนี้มิใช่ประกันภัยหลายราย
4. สัญญาประกันภัยทุกรายต้องมีผลบังคับใช้ในเวลาเกิดภัยด้วย
คือจะต้องอยู่ในอายุแห่งการรับประกันภัย ทำให้ขณะเกิดภัยผู้เอาประกันชีวิตมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป แต่ถ้าสัญญาประกันภัยบางรายสิ้นสุดลงไปแล้วหรือสัญญาเป็นโมฆะ เหลือสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพียงรายเดียวก็มิใช่สัญญาประกันภัยหลายราย
No comments:
Post a Comment