ความสำคัญของการประกันภัย แบ่งได้ดังนี้
1. ความสำคัญของการประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัย คือ การให้ความคุ้มครองและเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ชีวิตของตนเองและครอบครัว
2. ความสำคัญของการประกันภัยต่อสังคม คือ เป็นหลักประกันความมั่นคงให้แก่ผู้เอาประกันภัย และช่วยแบ่งเบาภาระของสังคมทำให้เกิดความมั่นใจ หากเกิดอุบัติภัยและความเสียหายขึ้น ผู้ประสบภัยจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
3. ความสำคัญของการประกันภัยต่อเศรษฐกิจ เงินที่ได้จากการเก็บเบี้ยประกันภัย เป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศในการกู้ยืมมาลงทุนทำธุรกิจหรือขยายธุรกิจให้มีความเจริญก้าวหน้า สำหรับธุรกิจที่ทำการประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองในทรัพย์สินที่ได้ทำประกันภัยไว้ ทำให้เกิดความมั่นคงในกิจการ
ประโยชน์ของการประกันภัย
1. ประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัย ดังนี้
- ให้ความคุ้มครองต่อบุคคล ครอบครัวและทรัพย์สินของผู้เอาประกัน
- ช่วยปลูกฝังให้เกิดนิสัยประหยัดและช่วยให้เกิดการออม
2. ประโยชน์ต่อธุรกิจ ดังนี้
- ช่วยให้เกิดความมั่นคงในการประกอบธุรกิจ
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เพราะผู้บริหารไม่ต้องเสียเวลาเป็นกังวลเกี่ยวกับการเสี่ยงภัย
- ช่วยในการขยายเครดิต ลดความเสี่ยงของผู้ให้กู้จากหนี้สูญ
- ช่วยให้เกิดเสถียรภาพในต้นทุนการผลิต
- ช่วยส่งเสริมธุรกิจบางประเภทให้เจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงภัยมาก ๆ
3. ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้
- ช่วยระดมทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ
- ช่วยลดภาระแก่สังคมและรัฐบาล
การบริหารความเสี่ยงภัย
ความเสี่ยงภัย คือ โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียหรือความเสียหายทั้งทางด้านร่างกายหรือทรัพย์สิน ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางการเงิน
ลักษณะของการเสี่ยงภัยที่สามารถจะเอาประกันภัยได้ มีดังนี้
1. ความเสี่ยงภัยนั้นควรเป็นความเสี่ยงภัยที่แท้จริงและเป็นความเสี่ยงภัยจำเพาะ
2. ความเสี่ยงภัยนั้นจะต้องมีหน่วยที่คล้ายคลึงกันเป็นจำนวนมาก
3. ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนั้น ต้องเป็นอุบัติเหตุและไม่ได้เกิดจากการกระทำ โดยเจตนาของผู้เอาประกันภัย
4. ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ต้องสามารถหาสาเหตุและประเมินความเสียหายเป็นตัวเงินได้
5. ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นต้องไม่เป็นมหันตภัย
6. ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ผู้เอาประกันต้องมีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
7. โอกาสที่จะเกิดความเสียหายต้องคำนวณหรือประมาณได้
การหาวิธีจัดการกับความเสี่ยงภัย โดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น
1. การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงภัย (RISK AVOIDANCE)
โดยการพยายามหลีกเลี่ยงงานหรือสาเหตุที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายนั้น
2. การลดความเสี่ยงภัย (RISK REDUCTION) ทำได้โดย
การป้องกันการเกิดความเสียหาย จะกระทำก่อนที่จะมีความเสียหายขึ้น เช่น การตรวจสภาพเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพปลอดภัยอยู่เสมอ
การควบคุมความเสียหาย กระทำในขณะหรือภายหลังจากที่มีความเสียหายเกิดขึ้น เช่นการที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำการดับเพลิงที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที
การแยกทรัพย์สิน เช่นการตั้งโรงงานและโกดังไว้คนละสถานที่
3. การรับเสี่ยงภัยไว้เอง (RISK RETENTION)
คือการรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภัยไว้เอง เนื่องจากภัยบางอย่างอาจเล็กมาก จนไม่จำเป็นต้องหาวีจัดการกับความเสี่ยงภัย เช่น ความเสื่อมสภาพของวัสดุสำนักงาน การเอาประกันภัยรถยนต์แบบมีความรับผิดชอบต่อความเสียหายส่วนแรกไม่เกิน 1,000 บาท เป็นต้น
4. การโอนความเสี่ยงภัย (RISK TRANFER)
เป็นวิธีการจัดการกับความเสี่ยงภัยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดวิธีหนึ่ง ด้วยการโอนความเสี่ยงภัยเกี่ยวกับความเสียหายทางการเงินและความรับผิดต่าง ๆ ไปให้บุคคลอื่นรับภาระแทน ทำได้ 2 วิธี คือ
4.1 การโอนความเสี่ยงภัยในรูปแบบของการประกันภัย (INSURANCE TRANSFER)
4.2 การโอนความเสี่ยงภัยไปให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่การประกันภัย (NON- INSURANCE TRANSFER)
เช่น การจ้างบริษัทอื่นทำความสะอาดภายนอกอาคารสูง ๆ
การประกันภัย สามารถจำแนกได้ดังนี้
1. การประกันชีวิต (Life Insurance)
2. การประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance)
การประกันชีวิต
เป็นการบรรเทาหรือชดเชยความสูญเสียในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต หรือสูญเสียความสามารถในการหารายได้ในอนาคต ในรูปแบบของเงินทดแทนที่จ่ายโดยบริษัทประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ การออมทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากการประกันชีวิตเป็นผลจากจำนวนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเงินจำนวนเท่า ๆ กันอย่าสม่ำเสมอ
ชนิดของการประกันชีวิต
1. ประกันชีวิตแบบช่วงระยะเวลา (Term) เป็นกรมธรรม์ที่มีอายุจำกัด บริษัทจะจ่ายเงินสินไหมให้ผู้รับผลประโยชน์ หากผู้เอาประกันเสียชีวิตในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ แต่ไม่มีเงินคืนเมื่อครบอายุกรมธรรม์ ตัวอย่างการเลือกประกันประเภทนี้ เช่น เพื่อการประกันความเสี่ยงในการผ่อนบ้าน ถึงแม้ว่าผู้ที่เป็นรายได้หลักของครอบครัวเกิดเสียชีวิต สมาชิกในครอบครัวซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ จะได้เงินประกันสำหรับชำระค่าผ่อนต่อโดยไม่มีภาระทางการเงิน
2. ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ (Endowment) เป็นกรมธรรม์ที่มีอายุจำกัด บริษัทจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้รับผลประโยชน์เมื่อเสียชีวิต แต่หากมีชีวิตครบอายุกรมธรรม์ก็จะมอบเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้เอาประกัน
3. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Wholelife) เป็นการรับประกันชีวิตตลอดอายุผู้เอาประกัน (ในทางการค้า 90-99 ปี)
4. ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) ล้ายกับแบบออมทรัพย์ โดยบริษัทประกันชีวิตจะเก็บเบี้ยประกันจนถึงอายุระดับหนึ่งแล้วทยอยจ่ายคืนเงินให้กับผู้เอาประกัน
และอาจมีความคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติมเช่น
การประกันอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะ (Accident and dismemberment), การประกันกรณีทุพพลภาพ (Total Disability) ,หรือ การประกันสุขภาพ (Health Insurance)
การประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance)
แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. การประกันอัคคีภัย (Fire Insurance)
2. การประกันทางทะเลและการขนส่ง (Marine Insurance)
3. การประกันรถยนต์ (Motor Insurance)
4. การประกันเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous)
1. การประกันอัคคีภัย (Fire Insurance) หมายถึง การประกันภัยที่คุ้มครองทรัพย์สินจากภัยไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สที่ใช้หุงต้มหรือให้แสงสว่างเพื่อการอยู่อาศัย และยังสามารถขยายความคุ้มครองภัยอื่น ๆ ได้อีกด้วย
2. การประกันทางทะเลและการขนส่ง (Marine Insurance) เป็นการประกันภัยที่คุ้มครองความเสียหายของตัวเรือ และสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่งทั้งภายในและระหว่างประเทศ
3. การประกันรถยนต์ (Motor Insurance)จะให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถ ผู้ขับขี่รถยนต์และผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต บุคคลภายนอกที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายหรือเมื่อรถคันที่เอาประกันสูญหาย
การประกันภัยรถยนต์ แบ่งออกเป็น
การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
1) การประกันภัยรถยนต์ประเภทหนึ่ง คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัย ความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้หรือรถยนต์ที่ถูกโจรกรรม และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ซึ่งผู้ขัยขี่รถจะต้องรับผิดชอบ
2) การประกันภัยประเภทสอง คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัยเฉพาะในกรณีที่มีสาเหตุมาจากไฟไหม้หรือการโจรกรรม และความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ซึ่งผู้ขับขี่จะต้องรับผิดชอบ
3) การประกันภัยประเภทสาม คุ้มครองเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอกซึ่งผู้ขับขี่รถจะต้องรับผิดชอบ
4) การประกันภัยประเภทสี่ คุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกเฉพาะความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก โดยจำนวนเงินคุ้มครองจำนวน 100,000 บาท ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง
การประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance)
หมายถึงการประกันภัยรถประเภทที่ กฎหมายให้เจ้าของรถซึ่งใช้หรือมีรถไว้เพื่อใช้ ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับ ผู้ประสบภัยโดยประกัน ภัยกับบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบ กิจการประเภทการประกันภัยรถ โดยรัฐบาลมีเจตจำนงเพื่อให้เกิดความคุ้มครองแก่ชีวิต ร่างกายของประชาชนที่ประสบภัยเป็นสำคัญ
No comments:
Post a Comment