6/05/2011

บุคคลที่เกี่ยวข้องในสัญญาประกันภัย

บุคคลที่เกี่ยวข้องในสัญญาประกันภัย

ม. 862 บัญญัติว่า “ตามข้อความในลักษณะนี้
คำว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้”
คำว่า “ผู้เอาประกัน” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
คำว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้พึงจะได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจำนวนเงินใช้ให้
อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”

1. ผู้รับประกันภัย กฎหมายบัญญัติให้การประกอบธุรกิจประกันภัยกระทำในรูปบริษัทที่จดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจนี้เท่านั้น ถ้ามีผู้รับประกันภัยในลักษณะเป็นการค้ามิใช่บริษัทและไม่ได้รับอนุญาต ย่อมเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย ถือเป็นโมฆะ ตามม. 150
ฎ 1106/2516 การที่สมาชิกสมาคมต้องชำระค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปีไปและต้องชำระเงินช่วยการกุศลแรกเข้ากับต้องชำระเงินค่าช่วยในการทำศพให้แก่สมาชิกที่ถึงแก่กรรม เมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม ทายาทมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากสมาคม ตามจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดในวันที่สมาชิกถึงแก่กรรม โดยสมาคมหักร้อยละ 20 เงินที่สมาชิกชำระมีลักษณะเป็นเบี้ยประกันและสมาคมจ่ายเงินให้อาศัยความมรณะของสมาชิก การดำเนินกิจการของสมาคมจึงมีลักษณะเป็นการประกันภัย

2. ผู้เอาประกันภัย ได้แก่คู่สัญญาที่ตกลงกันจะส่งเบี้ยประกันและมีเจตนาเข้าผูกพันเป็นคู่สัญญาด้วย นอกจากนี้ผู้เอาประกันภัยอาจให้ผู้อื่นออกหน้าเป็นตัวการเข้าทำสัญญาประกันภัยก็ได้ เช่น
ฎ. 656/2521 โจทก์เช่าซื้อรถพิพาทจากห้าง ส. ตามระเบียบของห้าง ส. นั้น รถที่เช่าซื้อทุกคันจะต้องเอาประกันภัยไว้ในนามของห้าง โดยผู้เช่าซื้อเป็นผู้จ่ายเงินเบี้ยประกัน ห้าง ส. แนะนำลูกค้าให้บริษัทประกันภัย และบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าคอมมิชชั่นแก่ห้าง โจทก์ติดต่อกับบริษัทจำเลยเอาประกันภัยรถพิพาท แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะระบุนามผู้เอาประกันภัยว่าห้าง ส. แต่ก็วงเล็บชื่อโจทก์ต่อท้ายไว้ด้วย และระบุที่อยู่ของโจทก์เป็นที่อยู่ของผู้เอาประกันภัย การที่มีชื่อห้าง ส. ในกรมธรรม์ก็เพราะเป็นการสะดวกแก่การที่จำเลยจะมาเก็บเงิน และเพื่อห้าง ส. จะได้ค่าคอมมิชชั่น โดยโจทก์นำเงินเบี้ยประกันมาฝากที่ห้าง ส. เพื่อชำระให้จำเลย จำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัย เพราะหลังจากที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว ห้าง ส. ก็มิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันต่อไปอีก ดังนั้น เมื่อรถพิพาทชนกับรถอื่นได้รับความเสียหายในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ( หลังจากที่ได้ชำระค่าเช่าซื้อครบแล้ว ) โจทก์ขอเงินชดใช้ตามกรมธรรม์เป็นค่าซ่อมรถ จำเลยเพิกเฉย โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจจะฟ้องจำเลย
หากได้ความเพียงว่าเป็นผู้ส่งเงินเบี้ยประกันเท่านั้น อาจไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย เช่น ห้าง ก. ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กับบริษัทประกันภัย โดยมีนาย ข. เป็นผู้เช่าซื้อรถจากห้าง ก. และเป็นผู้ออกเบี้ยประกันตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ นาย ข. ไม่ใช่ผู้เอาประกันตามม. 862 เป็นเพียงผู้กระทำการแทนห้าง ก. ซึ่งเป็นตัวการตามม. 820 จึงถือว่าห้าง ก.เป็นผู้เอาประกัน (ฎ 5/2527)
บุคคลแม้มิได้ลงชื่ออาจถือเป็นคู่สัญญาต้องรับผิด หรือผูกพันในฐานะคู่สัญญา หากพฤติการณ์ฟังได้ว่าเป็นตัวการตัวแทนกัน
ฎ 1968/2523 ก. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์แต่ใส่ชื่อ ข.เป็นเจ้าของในทะเบียนและให้ ข. นำรถยนต์ไปประกันภัยค้ำจุนกับบริษัท ค. จึงถือได้ว่า ก. เป็นตัวการเชิด ข. ให้เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยตาม ม. 821 และถือเท่ากับว่า ก. เข้าทำสัญญากับบริษัท ค. เอง

3. ผู้รับประโยชน์ ถ้าเป็นบุคคลเดียวกับผู้เอาประกันภัยก็มีสิทธิเรียกร้องประโยชน์จากผู้รับประกันภัยได้ทันทีในฐานะคู่สัญญา แต่ถ้าผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลภายนอกต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากผู้รับประกันเสียก่อนจึงจะมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกัน ตามม. 374 วรรค 2 การแสดงเจตนาไปยังลูกหนี้สามารถทำได้โดยทำเป็นหนังสือ วาจา เมื่อผู้รับประกันทราบเจตนาแล้ว สิทธิของผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับชำระหนี้ย่อมเกิดขึ้นทันทีโดยผลของกฎหมาย และเมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดขึ้นแล้ว คู่สัญญาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ตาม ม. 375 แต่ถ้ายังไม่มีการแสดงเจตนาต่อผู้รับประกันภัย ในระหว่างนี้คู่สัญญาประกันภัยสามารถเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ได้
ถาม ถ้าผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่แสดงเจตนาเข้าถือประโยชน์ ในระหว่างนั้นมีเหตุเกิดขึ้นตามเงื่อนไขในสัญญา หากผู้รับประกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันไปแล้ว ภายหลังผู้รับประโยชน์จะมาแสดงเจตนาเข้าถือสิทธิได้หรือไม่
ตอบ ไม่ได้ เพราะถือว่าสิทธิได้ถูกเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงระหว่าง ผู้เอาประกันและผู้รับประกัน ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้รับประโยชน์ทราบ ตามม. 375
ฎ. 1950 / 2543 โจทก์นำรถยนต์คันที่หายเอาประกันไว้กับจำเลยโดยระบุให้ บริษัท ก. เป็นผู้รับประโยชน์ เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก สิทธิของบุคคลภายนอกจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญา ตราบใดที่ยังมิได้แสดงเจตนาดังกล่าว คู่สัญญาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นได้ เมื่อ บริษัท ก. ฟ้องโจทก์ให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ แสดงว่าได้สละเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยจึงเป็นคู่สัญญามีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากสัญญาซึ่งกันและกันตามหลักทั่วไป และโจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเองได้ จึงมีอำนาจฟ้อง
ฎ. 132 /2540 โจทก์เช่าซื้อรถบรรทุกจากบริษัท ก. บริษัท ก. จัดการให้โจทก์เอาประกันภัยกับจำเลย โดยระบุให้บริษัท ก. เป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงเป็นคู่สัญญาประกันวินาศภัยกับจำเลย
โดยมีบริษัท ก. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 862 เมื่อบริษัท ก. มิได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัย สิทธิของบุคคลภายนอกจึงยังไม่เกิดตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อรถบรรทุกพลิกคว่ำได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยได้โดยบริษัท ก. ไม่จำต้องโอนสิทธิเรียกร้องหรือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้อง

No comments:

Post a Comment

Search for content in this blog.

Life Insurance