6/05/2011

เกี่ยวกับข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันชีวิตมีข้อควรสังเกตดังนี้

เกี่ยวกับข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันชีวิตมีข้อควรสังเกตดังนี้

1.ที่กฎหมายกำหนดเวลาไว้ 1 ปี นั้น เฉพาะกรณีผู้เอาประกันชีวิตฆ่าตัวเองตายเท่านั้น สำหรับกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็นคนฆ่าไม่มีระยะเวลากำหนดไว้

2. ถ้าผู้เอาประกันชีวิตฆ่าตัวเองตายใน 1 ปี ย่อมไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาโดยไม่ต้องคำนึงว่าการกระทำอัตวินิบาตนั้นกระทำโดยต้องการให้ทายาทได้รับเงินตามสัญญาหรือไม่

3. มีปัญหาว่าหากผู้เอาประกันชีวิตลงมือกระทำอัตวินิบาตภายใน 1 ปี แต่การมรณะเกิดขึ้นภายหลัง 1 ปี ดังนี้ ทายาทจะยังมีสิทธิได้รับชดใช้หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 895 ตอนต้นบัญญัติว่า “ เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะ” แสดงว่าเหตุมรณะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องพิจารณาว่าผู้รับประกันจะรับผิดใช้เงินตามสัญญาหรือไม่การพิจารณาข้อยกเว้นความรับผิดก็เช่นเดียวกันต้องนำเหตุมรณะมาพิจารณาด้วย ดังนั้นถ้าปรากฏว่าผู้ทำอัตวินิบาตมิได้มรณะภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาจึงถือไม่ได้ว่าการมรณะนั้นอยู่ในหลักเกณฑ์ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย ผู้รับประกันภัยจึงควรต้องใช้เงินให้แก่ทายาทตามสัญญา

4. กรณีผู้เอาประกันหรือถูกเอาประกัน ถกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาน่าจะหมายความว่า ผู้รับประโยชน์ต้องมีเจตนาฆ่าและผู้เอาประกันหรือถูกเอาประกันถึงแก่ความตายสมตามเจตนานั้นด้วย ผู้รับประกันจึงจะไม่ต้องรับผิดใช้เงิน หากพฤติการณ์ฟังได้เพียงว่า ผู้รับประโยชน์มีเจตนาทำร้ายเท่านั้น ตาการทำร้ายนั้นเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย ดังนี้น่าจะไม่เข้าข้อยกเว้นที่ทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิด

5. ควรสังเกตด้วยว่า หากผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันหรือผู้เอาประกันตายโดยเจตนาไม่ว่ากระทำโดยหวังเงินประกันหรือไม่ก็ตาม ผู้รับประโยชน์ไม่มีสิทธิได้รับเงินใดๆจากผู้รับประกันเลย ผู้รับประกันต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกัน หรือทายาทของผู้นั้น




9. การเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีมรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก
มาตรา 896 บัญญัติว่า “ ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจำนวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย”
ข้อสังเกต
1. กฎหมายให้หลักว่า ในการประกันชีวิต ทายาทของผู้เอาประกันชีวิตมีสิทธิเรียกร้องเอาได้ทั้งสองทาง คือ จากผู้ทำละเมิดทางหนึ่งและจากผู้รับประกันชีวิตอีกทางหนึ่ง

2. ผู้รับประกันชีวิตเมื่อได้ใช้เงินให้กับทายาทของผู้เอาประกันซึ่งมรณะหรือใช้เงินให้กับผู้รับประโยชน์แล้วไม่มีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของทายาทของผู้ตายไปไล่เบี้ยเอากับผู้ทำละเมิด หลักการข้อนี้แตกต่างกับการประกันวินาศภัยซึ่งกฎหมายให้ผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ไปไล่เบี้ยเอากับบุคคลภายนอกได้ตามมาตรา 880

3. ทายาทของผู้มรณะจะเรียกร้องเอากับผู้รับประกันภัย หรือผู้ทำละเมิดก่อนหรือหลังก็ได้ หากเรียกร้องกับผู้รับประกันภัยก่อนและได้รับชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัยแล้ว ผู้ละเมิดจะอ้างว่าทายาทไม่มีความเสียหายเพราะได้มีการทดแทนโดยการใช้เงินจากผู้รับประกันชีวิตแล้วไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2572 / 2525 สัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลนั้น เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่ง เพราะอาศัยความมรณะของบุคคลเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามความหมายในมาตรา 889 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามบทบัญญัติว่าด้วยประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิเข้าแทนกันได้เหมือนอย่างการประกันวินาศภัย โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ได้จ่ายเงินชดเชยการเสียชีวิตของ อ. ผู้ขับรถยนต์ดังกล่าวแก่ครอบครัวของ อ. ตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้องไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยผู้ต้องรับผิดในกรณีละเมิดของผู้ขับรถชนรถที่ อ. ขับเป็นเหตุให้ อ. ถึงแก่ความตาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 172 / 2522 จำเลยขับรถยนต์โดยประมาททำให้คนตาย โจทก์เป็นทายาทฟ้องเรียกค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายเช่าซื้อมาและต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อได้ โจทก์ได้รับเงินประกันชีวิตผู้ตายแล้ว ไม่หมดสิทธิที่จะเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นค่าเสียหายอีกด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 2361 / 2515 (ประชุมใหญ่) แม้สามีและบุตรผู้เยาว์ของผู้ตายจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว ก็หาเป็นการตัดสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนที่ยังขาดอยู่จากผู้ทำละเมิดอีกไม่
ฎ. 1150/2546 กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิต เป็นสัญญาประกันชีวิตเพราะอาศัยความมรณะเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามมาตรา 889 ซึ่งกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิแทนกันได้เหมือนอย่างการประกันวินาศภัย แต่เงินส่วนที่โจทก์จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย และค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บซึ่งเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ตกลงคุ้มครองหาใช่เป็นสัญญาประกันชีวิตไม่
10 สัญญาประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันมิได้เจาะจงตัวผู้รับประโยชน์ไว้

มาตรา 897 วรรคแรก บัญญัติว่า “ ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าเมื่อตนถึงซึ่งมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้”

โดยปกติถ้าผู้เอาประกันภัยไม่ได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ ก็หมายความว่าผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญานั้นเองในฐานะคู่สัญญา หากผู้เอาประกันภัยตาย ทายาทย่อมเป็นผู้รับเงินนั้นในฐานะผู้รับมรดก และหากมีทายาทหลายคนเงินนั้นย่อมรวมเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาททั้งหลายผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมายมรดกต่อไป และถ้าหากผู้เอาประกันมีเจ้าหนี้อยู่ขณะตาย เจ้าหนี้นั้นย่อมมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของกองมรดกมีสิทธิเรียกชำระหนี้จากกองมรดกได้
มีข้อสังเกตว่า กรณีจะเป็นอย่างที่กล่าวข้างต้นได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองเท่านั้น หากเป็นเรื่องผู้เอาประกันทำสัญญาประกันชีวิตผู้อื่น ผู้มรณะก็จะเป็นผู้ถูกเอาประกันชีวิต และผู้เอาประกันเป็นผู้รับเงินตามสัญญาไม่มีเหตุที่จะฟังว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งของกองมรดกได้เพราะผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่

หมายความว่ามาตรา 897 นี้ใช้บังคับเฉพาะกรณีเอาประกันชีวิตตนเองเท่านั้น หากเป็นกรณีเอาประกันชีวิตผู้อื่นไม่อยู่ในบังคับของมาตรานี้

ตัวอย่างที่ 1 ดำทำสัญญาเอาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัทประกันภัยบริษัทหนึ่ง โดยไม่ได้ระบุว่าให้ผู้ใดเป็นผู้รับประโยชน์ ดังน้าหกดำถึงแก่ความตายตามเงื่อนไขของสัญญาเงินที่ผู้รับประกันจะต้องชดใช้ตามสัญญานั้นจะตกเข้าสู่กองมรดกของดำ ซึ่งเจ้าหนี้ของดำมีสิทธิเรียกชำระหนี้เอาได้ เหลือจากนั้นจึงแบ่งปันให้แก่ทายาทของดำต่อไป

ตัวอย่างที่ 2 ดำทำสัญญาประกันชีวิตแดงไว้กับบริษัทรับประกันภัย โดยไม่ได้ระบุให้ผู้ใดเป็นผู้รับประโยชน์ ดังนี้หากแดงถึงแก่ความตายตามเงื่อนไขของสัญญา ผู้รับประกันต้องชดใช้เงินตามสัญญาให้กับดำผู้เอาประกัน มิใช่ตกเข้าสู่กองมรดกของแดง ฉะนั้นเจ้าหนี้ของแดงจะอ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ของกองมรดกของแดงแล้วขอชำระหนี้เอาจากเงินประกันที่ผู้รับประกันจะต้องชดใช้ไม่ได้

11. สัญญาประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันได้เจาะจงตัวผู้รับประโยชน์ไว้

มาตรา 897 วรรค 2 บัญญัติว่า “ ถ้าได้เอาประกันไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้น จักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้”

บทบัญญัติวรรค 2 นี้ก็เช่นเดียวกับวรรคแรกคือใช้บังคับเฉพาะกรณีผู้เอาประกันได้ทำสัญญาเอาประกันชีวิตตนเองไว้เท่านั้น ต่างกับวรรคแรกที่กรณีตามวรรค 2 นี้ ผู้เอาประกันได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้เป็นการแน่นอน

ข้อควรสังเกตคือว่า ถึงแม้กฎหมายจะมิได้กำหนดไว้ว่าผู้รับประโยชน์จะต้องเป็นทายาทของผู้เอาประกันก็ตาม แต่เมื่ออ่านประกอบกับวรรคแรกแล้ว ทำให้เห็นได้ว่ากฎหมายมุ่งถึงเฉพาะผู้รับประโยชน์ที่เป็นทายาทเท่านั้นที่เป็นกรณีของมาตรา 897 นี้

ผลของกฎหมายจากการที่ระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้เฉพาะเจาะจงมีว่า เฉพาะเบี้ยประกันซึ่งผู้เอาประกันได้ส่งไปแล้วเท่านั้นตกเข้ากองมรดกของผู้เอาประกันหรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ผู้รับประโยชน์มีสิทธิได้รับใช้เงินเต็มจำนวนจากผู้รับประกันแต่ต้องกันเงินจำนวนหนึ่งเท่ากับจำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งใช้ไปแล้วคืนเข้ากองมรดกของผู้เอาประกันภัย

ตัวอย่าง เขียวเอาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัทผู้รับประกัน โดยกำหนดให้เหลืองทายาทคนหนึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ หลังจากที่เขียวชำระเบี้ยประกันภัยได้ 2 งวดเป็นเงิน 20,000 บาทแล้ว เขียวถึงแก่ความตาย ดังนี้เหลืองมีสิทธิได้รับเงินเต็มจำนวนจากบริษัทผู้รับประกันตามสัญญา แต่เหลืองต้องหักเงินจำนวน 20,000 บาท ออกจากเงินจำนวนที่ได้รับแล้วส่งเข้ากองมรดกของเขียว เพื่อว่าเจ้าหนี้ของเขียวจะได้เรียกเอาใช้หนี้ได้

12. สัญญาประกันชีวิตที่กำหนดให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งของผู้เอาประกันเป็นผู้รับประโยชน์
มาตรา 1742 บัญญัติว่า “ ถ้าการชำระหนี้ซึ่งค้างชำระอยู่แก่ตน เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้รับตั้งไว้ในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ให้เป็นผู้รับประโยชน์ในการประกันชีวิต เจ้าหนี้คนนั้นชอบที่จะได้รับเงินทั้งหมด ซึ่งได้ตกลงไว้กับผู้รับประกัน อนึ่งเจ้าหนี้เช่นว่านั้นจำต้องส่งเบี้ยประกันภัยคืนเข้ากองมรดกก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้รายอื่นๆพิสูจน์ได้ว่า
(1) การที่ผู้ตายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยวิธีดั่งกล่าวมานั้นเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายนี้ และ
(2) เบี้ยประกันภัยเช่นว่านั้น เป็นจำนวนสูงเกินส่วนเมื่อเทียบกับรายได้หรือฐานะของผู้ตาย”

มาตรานี้ก็เช่นเดียวกับมาตรา 897 คือเป็นเรื่องเอาประกันชีวิตตนเองมิใช่เอาประกันชีวิตผู้อื่นและขอให้สังเกตด้วยว่า เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้น หมายถึงเจ้าหนี้ของผู้เอาประกันภัย มิใช่เจ้าหนี้ของผู้ถูกเอาประกันภัย

ตัวอย่างที่ 1 ก .เอาประกันชีวิตตนเอง โดยระบุให้ ข. เจ้าหนี้คนหนึ่งของตนเป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อ ก. ตายลงตามเงื่อนไขของสัญญา ข. มีสิทธิได้รับเงินทั้งหมดจากผู้รับประกันภัย แต่ถ้าหากเจ้าหนี้คนอื่นพิสูจน์ได้ตามหลักเกณฑ์สองข้อดังกล่าว ข. ต้องส่งเบี้ยประกันภัยคืนเข้ากองมรดกของ ก. เพื่อให้เจ้าหนี้อื่นได้รับเฉลี่ยใช้หนี้จากเงินเบี้ยประกันภัยนั้น

ตัวอย่างที่ 2 ก. เอาประกันชีวิตของ ข. ไว้โดยระบุให้ ค. เจ้าหนี้คนหนึ่งของตน เป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อ ข. ตายลงตามเงื่อนไขของสัญญา ค. เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับเงินทั้งหมดจากผู้รับประกันภัย เจ้าหนี้อื่นไม่มีสิทธิพิสูจน์ตามเงื่อนไขของมาตรา 1742 เพราะมิใช่กรณีผู้ตายชำระหนี้ให้แก่ผู้ตายโดยวิธีดังกล่าว แต่เป็นเรื่อง นาย ก. ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยให้เป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิต ยังไม่มีกองมรดกของ ก. สำหรับให้เจ้าหนี้อื่นเข้าเฉลี่ยเพื่อใช้หนี้ตามมาตรา 1742 หากเจ้าหนี้อื่นเห็นว่าการกระทำของนาย ก. เช่นนั้นทำให้ตนเสียเปรียบก็อาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมสัญญาประกันชีวิตนั้นได้ตามมาตรา 237

ตัวอย่างที่ 3 ก. นายจ้างเอาประกันชีวิตของ ข. ลูกจ้างโดยระบุให้ ค. น้องชายของตนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ ข. ผู้ถูกเอาประกันเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมา ข. ตายลงตามเงื่อนไขของสัญญา ดังนี้ ค. มีสิทธิได้รับเงินทั้งหมดจากผู้รับประกันภัย เจ้าหนี้คนอื่นของ ก. ไม่มีสิทธิเรียกให้ ค. ส่งเบี้ยประกันภัยคืน เพราะมิใช่เป็นเรื่อง ก. ทำสัญญาประกันเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งของตนแต่อย่างใด ก. กับ ค. มิได้เป็นลูกหนี้เจ้าหนี้กันจึงไม่เข้าเงื่อนไข มาตรา 1742 ในขณะเดียวกัน เจ้าหนี้คนอื่นของ ข. ก็ไม่มีสิทธิเรียกให้ ค. ส่งเบี้ยประกันคืนเข้ากองมรดกของ ข. เพราะมิใช่กรณีที่ผู้ตายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยวิธีทำสัญญาประกันดังกล่าว แต่เป็นเรื่องของ ก. ผู้เอาประกันตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้รับประโยชน์ และ ก. มิได้เป็นผู้ตายแต่อย่างใด

สรุปได้ว่า การทำสัญญาประกันชีวิตโดยกำหนดให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ซึ่งอยู่ในบังคับของมาตรา 1742 นั้นประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ผู้เอาประกันกับผู้รับประโยชน์ต้องเป็นลูกหนี้ เจ้าหนี้กัน
2. ผู้เอาประกันทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง
3. ผู้เอาประกันมีเจ้าหนี้หลายคน
4. เมื่อผู้เอาประกันชีวิตตายลงตามเงื่อนไขของสัญญา เจ้าหนี้ผู้รับประโยชน์จำต้องส่งเบี้ยประกันที่ผู้ตายชำระไปแล้วเข้ากองมรดก เมื่อเจ้าหนี้อื่นพิสูจน์ได้ครบเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อของมาตรา 1742
คำว่า “ จำต้องส่งเบี้ยประกันภัยคืนเข้ากองมรดก” นั้น หมายความถึง กองมรดกของผู้เอาประกันภัย มิใช่กองมรดกของผู้ถูกเอาประกันภัย
หากเป็นกรณีผู้เอาประกันทำสัญญาประกันชีวิตคนอื่น แล้วระบุให้เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งของตนเป็นผู้รับประโยชน์ เจ้าหนี้คนอื่นซึ่งเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้ตนเสียเปรียบก็อาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ ซึ่งเป็นกรณีตามมาตรา 237 มิใช่การเพิกถอนตามมาตรา 1742

13. ข้อแตกต่างระหว่างสัญญาประกันวินาศภัยกับสัญญาประกันชีวิต

1. สัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ได้ตกลงเอาประกันภัยไว้ ( มาตรา 877 )
ส่วนสัญญาประกันชีวิตนั้น เป็นสัญญากำหนดจำนวนเงินอันพึงใช้เป็นการแน่นอน โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเสียหายเพราะไม่สามารถจะตีราคาความเสียหายได้ ( มาตรา 861 )

2. สัญญาประกันวินาศภัย ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียอยู่จนกระทั่งเกิดภัย แต่ในสัญญาประกันชีวิตนั้น แม้ส่วนได้เสียจะหมดไปในระหว่างอายุสัญญา คือไม่มีส่วนได้เสียในขณะเกิดภัย ก็ไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิด

3. การประกันวินาศภัยนั้น ผู้รับประกันเมื่อได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์อันมีต่อบุคคลภายนอก ( มาตรา 880 ) ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัย หรือบุคคลภายนอกได้ทางใดทางหนึ่งเท่านั้น จะเลือกเอาทั้งสองทางไม่ได้
แต่ในการประกันชีวิตนั้น แม้ผู้รับประกันภัยจะได้ชดใช้เงินให้กับผู้รับประโยชน์ไปแล้ว ก็ไม่มีการรับช่วงสิทธิ ทายาทของผู้มรณะอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ทั้งจากบุคคลภายนอก และจากผู้รับประกัน ( มาตรา 896 )

4. เบี้ยประกันในสัญญาประกันวินาศภัยมีลักษณะเป็นการตอบแทนจึงไม่มีการคืนกัน เว้นแต่กรณีตามมาตรา 872 เท่านั้น
แต่เบี้ยประกันในสัญญาประกันชีวิตนั้น บางส่วนเป็นการสะสมทุนจึงมีการคืนให้กับผู้เอาประกันภัย เช่น กรณีตามมาตรา 892 , 894 และ 895

5. ในสัญญาประกันวินาศภัย ผู้เอาประกันบอกเลิกสัญญาได้เฉพาะก่อนเริ่มเสี่ยงภัย ( มาตรา 872 ) หรือเมื่อผู้รับประกันตกเป็นบุคคลล้มละลาย ( มาตรา 876)
แต่ผู้เอาประกันชีวิตอาจเลิกสัญญาได้เสมอ โดยเพียงงดไม่ส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป แม้จะเริ่มเสี่ยงภัยแล้วก็บอกเลิกสัญญาได้ ( มาตรา 894 )

6. ข้อยกเว้นความรับผิดการใช้เงินตามสัญญาประกันวินาศภัยของผู้รับประกันภัยตามมาตรา 879 นั้น มีทั้งกรณีผู้เอาประกัน หรือผู้รับประโยชน์ทำให้เกิดวินาศภัยโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ส่วนข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันชีวิตตามาตรา 895 ยกเว้นเฉพาะกรณีกระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี หรือผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาเท่านั้น ไม่รวมถึงประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
7. สัญญาประกันวินาศภัยนั้น จะโอนสิทธิตามสัญญาไม่ได้ นอกจากที่จะโอนตัวทรัพย์ที่เอาประกัน เพราะถือว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตมีคุณค่าในตัวเอง ( มาตรา 391 )

No comments:

Post a Comment

Search for content in this blog.

Life Insurance