6/05/2011

ความรู้ของตัวแทนผู้รับประกันภัย

ความรู้ของตัวแทนผู้รับประกันภัย

การตั้งตัวแทนของผู้รับประกันภัยจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงจะถือว่าเป็นตัวแทนโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามม. 798 วรรคสอง ประกอบกับม. 867 วรรคแรก และพ.ร.บ. ประกันวินาศภัย ม. 66 พ.ร.บ. ประกันชีวิต ม. 71 บัญญัติให้ตัวแทนประกันวินาศภัยและประกันชีวิตจะทำการรับเบี้ยประกันภัยหรือทำสัญญาในนามบริษัทได้ต่อเมื่อได้มีหนังสือมอบอำนาจตามแบบที่ทางราชการกำหนดไว้หรือ ถ้าไม่มีหนังสือมอบอำนาจตามแบบที่กำหนด ถ้าได้ทำเป็นหนังสือมอบอำนาจไว้ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน ไม่เป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอก
ข้อสังเกต กรณีรับเบี้ยประกันภัยหรือทำสัญญาประกันภัยเท่านั้นที่กำหนดให้มีแบบหนังสือมอบอำนาจไว้เป็นพิเศษ กรณีตัวแทนประกันภัยทำหน้าที่อื่นๆ เช่น ตัวแทนประกันภัยรับคำเสนอขอเอาประกันภัย เพียงมีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงว่าผู้นั้นเป็นตัวแทนก็ใช้ได้แล้ว

นอกจากนี้กรณีตัวแทนเชิดตามม. 821 และตัวแทนที่ทำเกินอำนาจ ม. 822 แม้จะไม่มีการตั้งโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ต้องถือว่าตัวแทนทั้งสองเป็นตัวแทนโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นตัวการต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต

ถาม การที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้เปิดเผยข้อความจริงตามม.865 ให้ตัวแทนผู้รับประกันได้รู้ หรือตัวแทนรู้ว่าผู้เอาประกันแถลงเท็จ จะถือว่าผู้รับประกันได้รู้ข้อความนั้นด้วยหรือไม่
ตอบ ถ้าตัวแทนประกันภัยได้รับแต่งตั้งโดยชอบตามม. 798 หรือเป็นตัวแทนเชิดตามม. 821 หรือในทางปฏิบัติมีมูลเหตุเชื่อได้ว่าตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของตัวแทน ตามม. 822 ผู้รับประกันภัยย่อมจะต้องมีความผูกพันต่อผู้เอาประกันภัย ย่อมถือได้ว่าผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นตัวการรู้ด้วย หรือถ้าตัวแทนผู้รับประกันภัยควรจะรู้อย่างไร ก็ต้องถือว่าผู้รับประกันควรรู้ด้วย ทั้งนี้เพราะตัวแทนย่อมมีหน้าที่จะต้องแจ้งข้อความต่างๆอันเกี่ยวเนื่องจากการที่ตนเป็นตัวแทนได้รู้มาให้ผู้รับประกันทราบ ถ้าตัวแทนไม่แจ้งหรือแจ้งให้ทราบผิดพลาดก็เป็นเรื่องที่ผู้รับประกันภัยจะต้องว่ากล่าวกับตัวแทนของตนเอง แต่ในส่วนผู้เอาประกันภัยต้องถือว่าผู้รับประกันภัยได้รู้หรือควรรู้ความจริงต่างๆเท่าที่ตัวแทนของตนได้รู้หรือควรจะได้รู้

ข้อยกเว้น ถ้ามีการสมคบกันระหว่างตัวแทนกับผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยย่อมจะไม่ต้องถูกผูกพันความรู้เช่นนั้น เช่น ตัวแทนประกันภัยรู้ดีว่าผู้เอาประกันเป็นโรคมะเร็งแต่ไม่แจ้งให้บริษัททราบจนมีการตกลงทำสัญญาประกันภัย ถือว่าผู้รับประกันภัยได้รู้เรื่องที่ผู้เอาประกันชีวิตเป็นโรคมะเร็งด้วยย่อมมีผลผูกพันตามสัญญาประกันชีวิต แต่ถ้าตัวแทนกับผู้เอาประกันชีวิตสมคบกันจะไม่แจ้งให้ผู้รับประกันทราบเพราะกลัวจะไม่ยอมรับประกันชีวิต ต้องถือว่าผู้รับประกันภัยไม่ผูกพันและไม่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว

ฎ. 771/2531 ป. รู้ตัวดีว่าตนเป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และเคยเข้ารับการตรวจรักษาตัวที่โรงพยาบาลมาก่อนได้ขอเอาประกันชีวิตต่อบริษัทจำเลย ตัวแทนผู้หาประกันจำเลยจัดให้แพทย์มาตรวจร่างกายของ ป. เพื่อทำรายงานให้จำเลยประกอบการพิจารณาว่าจะรับประกันชีวิต ป. หรือไม่ เช่นนี้ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายของ ป. ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยจะถือว่าบริษัทจำเลยผู้รับประกันภัยทราบว่า ป. เคยตรวจและรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มาก่อนเช่นเดียวกับแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของ ป. ไม่ได้ เมื่อ ป. ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพ สัญญาประกันชีวิตระหว่าง ป. กับจำเลยตกเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้

หลักว่าด้วยสัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
(Principle of indemnity contract )

สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยที่มีหน้าที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ หน้าที่นี้ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของผู้รับประกันภัยเพราะการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นวัตถุประสงค์โดยตรงของสัญญาประกันภัยในอันที่จะให้ผู้รับประกันภัยชำระหนี้ตอบแทนผู้เอาประกันภัยซึ่งชำระเบี้ยประกันให้แก่ตน ดังนั้นหน้าที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นและความเสียหายนั้นเป็นผลเนื่องมาจากภัยที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น

No comments:

Post a Comment

Search for content in this blog.

Life Insurance