6/09/2011

อายุความประกันวินาศภัย (มาตรา 882) ในกรณีที่บุคคลภายนอกฟ้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย มีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 882 จะนำอายุความละเมิดตามมาตรา 448 มาบังคับใ

อายุความประกันวินาศภัย (มาตรา 882)

ในกรณีที่บุคคลภายนอกฟ้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย มีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 882 จะนำอายุความละเมิดตามมาตรา 448 มาบังคับใช้ไม่ได้ ดูฎีกา 4479/2533, 2904/2535

ฎีกาที่ 4479/2533 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ทำละเมิด จำเลยจะยกอายุความเรื่องละเมิดตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 มาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ เมื่อความรับผิดของจำเลยเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัย และมีลักษณะเป็นการประกันวินาศภัยตามบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ลักษณะ 20 หมวด 2 จึงต้องนำอายุความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 882 วรรคแรก ซึ่งมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัยมาปรับแก่คดี

ฎีกาที่ 2904/2535 การฟ้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคแรก หาใช่นำอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาใช้ไม่

( มีฎีกาที่ 6-8/2532, 3524/2532 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน )

ดังนั้นหากผู้ได้รับความเสียหายฟ้องทั้งผู้กระทำละเมิดและฟ้องผู้รับประกันภัยมาด้วยกัน อายุความที่จะบังคับในแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน โดยอายุความฟ้องผู้ทำละเมิด ( รวมทั้งนายจ้าง ตัวการ ฯลฯ ) มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนอายุความฟ้องผู้รับประกันภัยมีกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 882 ดูฎีกาที่ 8533/2542 (ประชุมใหญ่)

ฎีกาที่ 8533/2542 (ประชุมใหญ่) จำเลยที่1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดในฐานะเจ้าของผู้ครอบครอง นายจ้าง ตัวการ วาน ใช้ ผู้ขับขี่และผู้ควบคุม ซึ่งมีอายุความ 1ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง แสดงว่าอายุความฟ้องจำเลยทั้งสองสามารถแยกออกจากกันได้ อีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 295 บัญญัติให้อายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ฉะนั้น การฟ้องให้จำเลยที่1 รับผิดในมูลละเมิดจึงขาดอายุความ 1 ปี ย่อมเป็นคุณเฉพาะจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับการให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย

ข้อสังเกต อายุความตามมาตรา 882 เป็นอายุความฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดในค่าสินไหมทดแทนเพราะความรับผิดของผู้รับประกันภัยเกิดขึ้นตามสัญญาประกันภัย แต่ในกรณีที่ผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปฟ้องไล่เบี้ยเอากับผู้ทำละเมิดตามมาตรา 880 นั้น ไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 882 หากแต่ถือหลักตามกฎหมายการรับช่วงสิทธิที่ว่าผู้รับช่วงสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันที่ตนรับช่วงสิทธิมา ดังนั้นผู้รับประกันภัยต้องฟ้องผู้ทำละเมิดภายในอายุความตามมาตรา 448 เช่นเดียวกับสิทธิของผู้เอาประกันภัย ดูฎีกาที่ 2339/2533, 5813/2539, 2138/2534, 2425/2538

ฎีกาที่ 2339/2533 โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย สิทธิของโจทก์จึงต้องถูกจำกัดไม่เกินสิทธิทั้งหลายบรรดาผู้ที่เอาประกันภัยมีอยู่โดยมูลหนี้ เมื่อผู้เอาประกันภัยรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในการกระทำละเมิดตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2523 แล้วโจทก์มาฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2524 เกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ฎีกาที่ 626/2536 ผู้ต้องเสียหายจากการกระทำละเมิดสามารถฟ้องให้จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้โดยตรงตาม ป.พ.พ.มาตรา 887 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยของผู้ต้องเสียหายเข้าชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้ต้องเสียหายฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ในนามของโจทก์เองตาม ป.พ.พ.มาตรา 226 และ 880 และกรณีเช่นนี้เป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ต้องใช้อายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 คือ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย จะนำอายุความละเมิดตามมาตรา 448 มาบังคับไม่ได้

กรณีที่ผู้เอาประกันภัยไปตกลงประนีประนอมยอมความกับผู้ทำละเมิด แต่เมื่อยังไม่มีการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ สัญญาประกันภัยยังไม่ระงับ เมื่อผู้รับประกันภัยใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปฟ้องผู้ทำละเมิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ซึ่งเป็นกรณีไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ดูฎีกาที่ 440/2540

ฎีกาที่ 440/2540 จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ของ ส. ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์จึงต้องรับผิดต่อ ส. แม้ ส. จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย ยอมให้จำเลยซ่อมรถยนต์ของ ส. ภายหลังวันที่กรมธรรม์ประกันภัยครบกำหนดแล้วก็ตาม สิทธิของโจทก์ที่จะรับช่วงสิทธิของ ส. ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่แก่จำเลยในการเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยยังคงมีอยู่ หาได้สิ้นสิทธิไป เพราะบันทึกข้อตกลงที่จำเลยยอมซิอมรถยนต์ของ ส. เป็นข้อตกลงที่ผูกพันเฉพาะจำเลยกับ ส. เมื่อจำเลยยังมิได้ปฏิบัติตามสัญญาหาได้มีผลทำให้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับ ส. สิ้นผลไปด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแมนให้แก่ ส. ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของ ส. ฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 227 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาแก่จำเลยในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของ ส. ผู้เอาประกันภัยอันมีต่อจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ ส. ทำไว้กับจำเลย มิได้ฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเอาแก่จำเลยตามสัญญาประกันภัย สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความฟ้องร้องไว้โดยเฉพาะ จึงต้องอยู่ภายในบังคับของมาตรา 193/30 แห่ง ป.พ.พ. มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

การฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยภายใน 2 ปี ตามมาตรา 882 นี้รวมถึงคู่ความในคดีขอให้ศาลออกหมายเรียกบริษัทประกันภัยให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57 (3) ด้วย โดยต้องขอให้ออกหมายเรียกบริษัทประกันภัยให้เข้ามาในคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันที่เกิดวินาศภัย (ฎีกาที่ 5783/2540)

มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ อายุความตามมาตรา 882 เป็นอายุความในการเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีวินาศภัย ถ้าเป็นการฟ้องเรียกตามสัญญาประกันชีวิตจะนำเอาอายุความตามมาตรา 882 มาใช้บังคับไม่ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 (มาตรา 164 เดิม) ดูฎีกาที่ 2306/2532

ฎีกาที่ 2306/2532 การฟ้องเรียกเงินตามสัญญาประกันชีวิตมิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป มีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164

ประกันชีวิต

สัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาประกันภัยชนิดหนึ่ง เป็นสัญญาประเภทผู้รับประกันภัยตกลงไว้ว่าจะใช้เงินจำนวนแน่นอนซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้า หากมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นตามเงื่อนไขในสัญญาเมื่อสัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาประกันภัย บทบัญญัติในหมวด 1 ว่าด้วยบทเบ็ดเสร็จทั่วไป ตั้งแต่มาตรา 861 ถึงมาตรา 867 จึงต้องนำมาใช้กับสัญญาประกันชีวิตด้วย

1. ลักษณะของสัญญาประกันชีวิต

สัญญาประกันชีวิตนั้นก็คือ สัญญาซึ่งบริษัทผู้รับประกันตกลงว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ หรือผู้สืบสิทธิของเขา โยมีเงื่อนไขว่า ผู้เอาประกันชีวิต หรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้ตายภายในเวลา หรือมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาอันได้กำหนดไว้ และผู้เอาประกันชีวิตตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทผู้รับประกันชีวิตภายในเวลาที่กำหนด

ในการประกันชีวิตตนเอง ผู้เอาประกันอาจจะระบุให้ตนเองเป็นผู้รับเงินในกรณีที่ตนมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาที่กำหนดไว้ หรืออาจกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับเงินในกรณีตนเองตายภายในเวลาที่กำหนดในกรมธรรม์ก็ได้ เช่น ลูกหนี้เอาประกันชีวิตตนเอง แล้วระบุให้เจ้าหนี้เป็นผู้รับประกันชีวิตนั้น

สัญญาประกันอุบัติเหตุบางครั้งอาจรวมอยู่ในสัญญาประกันชีวิตเรียกว่า สัญญาประกันอุบัติเหตุสัญญาประเภทนี้ผู้รับประกันตกลงจะจ่ายเงินให้ตามจำนวนรายจ่ายจริงที่ผู้เอาประกันจะต้องเสียในกรณีเกิดอุบัติเหตุ แต่ไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ เช่น จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลตามรายจ่ายที่เป็นจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อครั้ง เป็นต้น สัญญาประเภทนี้ หากมีเงื่อนไขกำหนดไว้ด้วยว่า ถ้าผู้เอาประกันได้รับอุบัติเหตุถึงชีวิต ผู้รับประกันจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้ ข้อกำหนดที่เป็นเงื่อนไขในส่วนนี้เป็นสัญญาประกันชีวิต ( ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 2572/2525 และที่ 1769/2521 )

สัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาที่ไม่ต้องทำตามแบบ แต่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ กล่าวคือไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำตามแบบอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนั้นเพียงแต่คู่สัญญามีคำเสนอและคำสนองตรงตามเจตนาซึ่งกันและกันแล้วสัญญาประกันชีวิตก็เกิดขึ้นได้ และเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ด้วย แต่ถ้าจะต้องถึงกับมีการฟ้องร้องบังคับคดีกันทางศาลแล้ว กฎหมายบังคับว่า ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้

ส่วนได้เสียในการประกันชีวิต

ผู้มีส่วนได้เสียไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เสมอไป แม้ไม่ใช่เจ้าของก็อาจเอาประกันภัยได้หากว่ามีส่วนได้เสีย ในทำนองเดียวกันสัญญาประกันชีวิตก็เดินตามหลักดังกล่าว แม้ไม่ใช่ชีวิตเรา เราก็อาจเอาประกันได้ ถ้าหากเรามีส่วนได้เสียเช่นสามีภรรยาอาจเอาประกันชีวิตของกันและกันได้ บิดา มารดา และบุตรมีส่วนได้เสียซึ่งเสียซึ่งกันและกันสามารถเอาประกันชีวิตซึ่งกันและกันได้

จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อาจเอาประกันชีวิตบุคคลอื่นได้นั้นก็ต่อเมื่อตนมีส่วนเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับผู้นั้นมากพอสมควร ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าหากบุคคลผู้เสียชีวิตไปก็จะทำให้สูญเสียเดือดร้อน หรือตนเองต้องรับผิดบางประการ อาจกล่าวได้ว่าการมีส่วนได้เสียในชีวิตของผู้ที่ตนจะเอาประกันถือความสัมพันธ์เป็นเกณฑ์ บางท่านมีความเห็นเจาะจงลงไปทีเดียวว่า หากความสัมพันธ์ที่ผู้เอาประกันชีวิตมีต่อชีวิตบุคคลที่ถูกเอาประกันนั้น เป็นความผูกพันในลักษณะเป็นสิทธิหน้าที่ต่อกันทางกฎหมายแล้ว ก็ถือว่าเป็นส่วนได้เสียที่จะเอาประกันชีวิตบุคคลนั้นได้

สำหรับกฎหมายไทยเรา ได้ยอมรับให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียสามารถเอาประกันชีวิตได้ คือ

- ตนเองย่อมมีส่วนได้เสียในชีวิตตนเองเสมอ

- สามีภรรยา

- บิดา มารดาและบุตร

- คู่หมั้น อาจเอาประกันชีวิตกันได้เพราะมีความผูกพันตามกฎหมายต่อกันอยู่

- ลูกจ้าง อาจเอาประกันชีวิตนายจ้างซึ่งมีหน้าที่จะต้องชำระค่าจ้างได้ และในทำนองเดียวกัน นายจ้างก็มีส่วนได้เสียในชีวิตของลูกจ้างอาจเอาชีวิตลูกจ้างได้ ( ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 64/2526 )

- เจ้าหนี้มีส่วนได้เสียอาจเอาประกันชีวิตลูกหนี้ของตนได้ แต่ลูกหนี้ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของเจ้าหนี้ จึงไม่อาจเอาประกันชีวิตเจ้าหนี้ได้

ในการทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง หากมีบุคคลที่ 3 ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียเป็นผู้ติดต่อหรือจัดการให้รวมทั้งการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันในนามของผู้เอาประกันชีวิตเอง มีข้อควรสังเกตดังนี้

1. หากข้อเท็จจริงได้ความว่า บุคคลที่สามนั้นเพียงแต่ช่วยเหลือจัดการให้มีการทำสัญญาประกันชีวิต และจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตให้ โดยในสัญญามิได้ระบุว่าบุคคลที่สามนั้นเป็นผู้รับประโยชน์ หรือโดยพฤติการณ์ไม่อาจแสดงได้ว่าบุคคลที่สามจะได้รับประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิตโดยการกระทำเช่นนั้น กรณีเช่นนี้พอถือได้ว่า ผู้เอาประกันชีวิตนั้นทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง สัญญาประกันชีวิตสมบูรณ์

2. หากข้อเท็จจริงได้ความว่า บุคคลที่สามเข้ามาช่วยเหลือจัดการให้มีการทำสัญญาประกันชีวิตและออกเงินค่าเบี้ยประกันให้เพื่อที่จะเป็นผู้รับประโยชน์ หรือเป็นผู้รับโอนประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตนั้น กรณีเช่นนี้ให้ถือได้ว่า บุคคลที่สามเป็นผู้เอาประกันชีวิตผู้อื่นโดยไม่มีส่วนได้เสีย สัญญาประกันชีวิตไม่ผูกพัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 1366/2509 อ.เอาประกันชีวิตของตนเอง ระบุให้ภรรยาของ ส.เป็นผู้รับประโยชน์ อ.ยากจนไม่มีเงินไม่ใช่ญาติของ ส. ส.จัดการให้ อ.เอาประกันชีวิต โดย ส. เป็นผู้เสียเบี้ยประกันและรับประโยชน์ ศาลวินิจฉัยว่า ส.เป็นผู้เอาประกันชีวิต อ. โดยไม่มีส่วนได้เสีย ขัดต่อมาตรา 863 ส.ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์สัญญานั้น

กรมธรรม์ประกันชีวิต

เมื่อผู้เสนอขอเอาประกันชีวิต กรอกแบบฟอร์มตามที่ตัวแทนเสนอให้กรอกเรียบร้อยแล้ว ตัวแทนจะนำแบบฟอร์มนั้นไปยื่นต่อบริษัทผู้รับประกันเพื่อจะได้พิจารณาว่าสมควรที่จะรับประกันชีวิตตามที่ผู้เสนอขอประกัน ยื่นข้อเสนอมาหรือไม่ ในระหว่างนี้ถ้าบริษัทผู้รับประกันเห็นว่าควรจะต้องตรวจสุขภาพของผู้เสนอขอเอาประกันก่อนเพื่อประกอบการพิจารณา ตัวแทนของบริษัทก็จะนำตัวผู้เสนอขอประกันนั้นไปให้แพทย์ของบริษัทตรวจ โดยปกติผู้ที่มีอายุยังไม่ถึง 30 ปี บริษัทอาจงดเว้นไม่ตรวจสุขภาพ เพราะโดยทั่วไปเปอร์เซ็นต์ของผู้มีอายุในขีดกำหนดนี้ไม่ค่อยมีการเจ็บป่วยมากนักเมื่อเทียบกับผู้มีอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป ดังนั้นบริษัทผู้รับประกันจึงอาจงดเว้นไม่ตรวจสุขภาพให้ เพียงแต่พิจารณาข้อมูลจากแบบฟอร์มคำขอประกันชีวิตเพียงอย่างเดียวก็เป็นการเพียงพอ ทั้งยังเป็นการลดความยุ่งยากต่างๆลงได้อีกมาก นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ขอเอาประกันชีวิตด้วย

เมื่อบริษัทผู้รับประกันชีวิตได้พิจารณาแบบฟอร์มคำขอประกันชีวิตประกอบกับผลการตรวจสุขภาพจากแพทย์เรียบร้อยแล้ว เห็นว่าผู้เสนอขอเอาประกันมีคุณสมบัติครบถ้วนพอที่บริษัทจะยอมรับเข้าเสี่ยงแทนผู้เสนอขอเอาประกันได้แล้ว บริษัทก็จะออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้เสนอขอประกันยึดถือไว้ ตามปกติกรมธรรม์ประกันชีวิตนี้บริษัทจะออกให้ภายหลังที่ได้รับแบบฟอร์มคำขอประกันแล้วประมาณ 1 เดือนโดยเงื่อนไขว่า ผู้เสนอขอประกันได้ชำระเบี้ยประกันชีวิตงวดแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยทั่วไป กรมธรรม์ประกันชีวิตจะมีลักษณะแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าบริษัทแต่ละแห่งจะได้กำหนดรูปแบบไว้ นอกจากนั้นยังแตกต่างกันตามประเภทและชนิดของการประกันด้วย แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนผู้เอาประกันชีวิตต้องเสียเปรียบเพราะตามความจริงบริษัทผู้รับประกันเป็นผู้กำหนดแบบและเงื่อนไขของกรมธรรม์แต่เพียงฝ่ายเดียว ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 มาตรา 23 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย ต้องเป็นไปตามแบบและข้อความที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ให้รวมทั้งเอกสารประกอบหรือแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยนั้นด้วย และในกรณีที่บริษัทออกกรมธรรม์ต่างไปจากแบบหรือข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีสิทธิที่จะเลือกให้บริษัทต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือตามข้อความที่บริษัทออกให้ หรือตามแบบหรือข้อความที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบแล้วก็ได้ หรือจะบอกเลิกสัญญาประกันชีวิตนั้นเสีย แล้วให้บริษัทคืนเบี้ยประกันทั้งสิ้นที่ได้ชำระไว้แล้วแก่บริษัทก็ได้

เหตุที่กฎหมายกำหนดให้บริษัทผู้อกกรมธรรม์ประกันชีวิต ต้องออกกรมธรรม์ตามแบบที่นายทะเบียน ให้ความเห็นชอบ ก็เพื่อให้เป็นผลในการควบคุม เพราะกรมธรรม์ประกันชีวิตจะบรรจุข้อความที่สำคัญตลอดทั้งเงื่อนไข สิทธิพิเศษ และผลที่ผู้เอาประกันควรจะได้รับไว้ทั้งสิ้น ฉะนั้นกรมธรรม์ประกันชีวิตจึงนับว่าเป็นเอกสารที่มีความสำคัญมาก ถ้าไม่มีการควบคุมกันแล้วก็จะทำให้ฝ่ายบริษัทผู้รับประกันเอาเปรียบประชาชนผู้เสนอขอเอาประกันได้ง่าย

นอกจากพระราชบัญญัติประกันชีวิตจะได้กำหนดวิธีการควบคุมเรื่องกรมธรรมประกันชีวิตไว้โดยเฉพาะแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 ยังได้กำหนดหลักทั่วไปที่จะต้องแจ้งไว้ในกรมธรรม์ด้วย

ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายกำหนดและควบคุมบริษัทผู้ประกันภัยในการออกกรมธรรม์ประกันภัยไว้แล้วก็ตามแต่ในทางปฏิบัติโดยเฉพาะในรายละเอียดปลีกย่อยบริษัทรับประกันภัยสามารถกำหนดรายละเอียดในกรมธรรม์ให้แตกต่างไปจากที่กฎหมายควบคุมไว้ได้ ถ้าไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีแล้วข้อกำหนดในกรมธรรม์นั้นก็ใช้ได้

ปัญหาเกี่ยวกับตัวแทนบริษัทรับประกันชีวิต

ปกติการรับประกันภัยนั้น ตัวผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยมักจะไม่ได้ติดต่อกันเองโดยตรงแต่มีคนกลางติดต่อให้ จึงมักเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆว่า ตัวแทนมีอำนาจกระทำการเพียงใด ตามปกติผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้แทนบริษัทประกันภัยนั้นไม่ได้รับอำนาจให้ตกลงทำสัญญาประกันภัยไว้ด้วย แต่เป็นนายหน้ารับคำขอทำสัญญาส่งไปยังบริษัทเท่านั้น บริษัทเป็นผู้ตัดสินใจทำคำสนองแม้จะมีอำนาจกระทำการแทนอยู่บ้าง แต่เท่าที่ได้รับมอบหมาย เช่นมีอำนาจขอรับเงินเบี้ยประกันภัยแทนบริษัท เป็นต้น ทั้งนี้ย่อมจะต้อง พิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทนด้วยคืออำนาจโดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้ แล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆไป แต่ตามปกติแล้วผู้แทนเหล่านี้ไม่ได้รับอำนาจให้ทำสัญญา

ข้อเท็จจริงที่จะพิจารณาว่า ผู้แทนได้รับมอบอำนาจให้ทำสัญญาหรือไม่ มักจะพิจารณาได้ตามแบบพิมพ์ต่างๆที่บริษัทมอบให้ผู้แทนไป เช่น ใบรับเงิน เป็นต้น ข้อความในใบรับเงินนั้น ถ้ามีความเพียงรับเงินเบี้ยประกันภัยไว้เท่านั้นยังไม่พอว่ามีสัญญา แต่ถ้ามีข้อความแสดงว่าบริษัทตกลงหรือยินยอมรับประกันภัยตามคำเสนอของผู้ขอเอาประกันภัย หรือข้อความอื่นทำนองนั้น แสดงว่ามีสัญญาแล้ว ข้อความย่อผูกพันบริษัทเพราะเป็นใบรับตามแบบพิมพ์ของบริษัทเอง บริษัทย่อมผูกพันตามแบบพิมพ์ของตน

การพิจารณาว่ามีสัญญาเกิดขึ้นหรือยังมีความสำคัญในเรื่องการรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัท หากสัญญาไม่เกิดเพราะตัวแทนไม่มีอำนาจทำสัญญา ปรากฏว่าผู้ขอเอาประกันชีวิตตายเสียก่อนบริษัทสนองรับ ถือว่าสัญญาไม่ผูกพัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 532/ 2500 ผู้แทนบริษัทรับประกัน ซึ่งมีฐานะเพียงนายหน้าหาผู้เอาประกันภัยรับเบี้ยประกันภัยไว้แล้วส่งไปให้ผู้รับประกันภัย แต่ผู้เอาประกันชีวิตตายเสียก่อนที่ผู้รับประกันภัยสนองรับประกันชีวิต ดังนี้ สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119

ข้อสังเกต ตามฎีกานี้ข้อเท็จจริงมีว่า ตัวแทนรับฝากเงินไว้เท่านั้น จึงยังไม่มีสัญญาจนกว่าบริษัทจะสนองเมื่อบริษัทสนองรับปรากฏว่าผู้ขอเอาประกันตายแล้ว จึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในวัตถุแห่งสัญญา เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม ตกเป็นโฆษะตามมาตรา 119

2. หลักการประกันชีวิต

มาตรา 889 บัญญัติว่า ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

เงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

(1) การใช้เงินโยอาศัยความทรงชีพของผู้ถูกเอาประกันชีวิต คือ ผู้เอาประกันชีวิตส่งเบี้ยประกันชีวิตเป็นระยะเวลา เช่น รายเดือน หรือรายปี โดยมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้ถูกเอาประกันชีวิตมีอายุอยู่จนถึงเท่านั้นเท่านี้ บริษัทผู้รับประกันก็จะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ สัญญาประกันชีวิตประเภทนี้มีข้อเสียตรงที่ว่าหากผู้ถูกเอาประกันชีวิตมิได้ตายลงภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น ผู้เอาประกันก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญา

เนื่องจากทั้งสองกรณีมีข้อบกพร่องอยู่ดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีผู้นิยมทำประกันมากนัก ต่อมาบริษัทผู้รับประกันชีวิตได้นำเอาวิธีการทั้งสองอย่างมารวมกัน คือ กำหนดเป็นข้อสัญญาไว้ว่า ไม่ว่าผู้ถูกเอาประกันชีวิต จะมีชีวิตอยู่จนถึงกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ หรือตายภายในกำหนดเวลานั้นก็ตาม ผู้รับประกันก็จะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้ การประกันชีวิตแบบนี้เรียกว่า ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ผู้เอาประกันหรือทายาทมีสิทธิได้รับเงินคืนจากบริษัทผู้รับประกันเสมอไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือตายลงภายในเวลาที่กำหนดไว้ การประกันชีวิตแบบนี้ผู้เอาประกันต้องชำระเบี้ยประกันค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นวิธีที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบันมากกว่าการประกันชีวิตสองแบบแรก

- การประกันชีวิตจัดว่าเป็นการประกันภัยชนิดหนึ่ง ประเภทกำหนดจำนวนเงินแน่นอน

- การประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ หรือประกันส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งอวัยวะของร่างกาย ถึงแม้จะไม่เป็นประกันชีวิตเพราะมิได้มีการมรณะเป็นเงื่อนไขของการจ่ายเงินก็ตาม แต่ก็จัดเป็นการประกันประเภทกำหนดจำนวนเงินแน่นอนไม่ใช่ประกันวินาศภัย[1]

มาตรา 890 บัญญัติว่า จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียวหรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น หมายถึง เงินที่ผู้รับประกันชีวิตจะจ่ายให้ตามสัญญา มิได้หมายถึงเงินเบี้ยประกันภัย ผู้รับประกันภัยมีความผูกพันต้องจ่ายตามสัญญา ไม่มีการจ่ายตามลำดับอย่างการประกันวินาศภัย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1769/2521 สัญญาประกันอุบัติเหตุเดินทางมีเงื่อนไขจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยทั้งในกรณีถึงแก่ความตายรวมทั้งบาดเจ็บ ดังนี้สัญญาที่เกี่ยวกับการใช้เงินอาศัยความมรณะของผู้เอาประกันภัยย่อมเป็นสัญญาประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 ผู้รับประกันภัยต้องจ่ายเต็มจำนวนอันจะพึงใช้ตามมาตรา 890 จะจ่ายตามจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงโดยเกี่ยงให้บังคับเอาแก่ผู้รับประกันภัยรายแรกก่อนย่อมมิได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 64/2516 สัญญาประกันภัยมีข้อกำหนดว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ความตายให้ค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง ถ้าเกิดอุบัติเหตุถึงตายก็ให้ค่าสินไหมทดแทนอีกอย่างหนึ่ง ดังนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิต ย่อมเป็นสัญญาประกันชีวิต

สัญญาประกันภัยซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประกันชีวิตนั้น ผู้รับประกันภัยต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนตามจำนวนที่เอาประกันภัยไว้ จะจ่ายตามจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 หาได้ไม่

เกี่ยวกับเรื่องการประกันอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่ทำให้ถึงตายหรือไม่ก็ตาม ปัญหาที่พิพาทกันส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องตีความข้อความในกรมธรรม์ว่า การตายหรือบาดเจ็บนั้นเข้าเงื่อนไขที่ผู้รับประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือไม่

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 170/2528 สามีโจทก์เอาประกันชีวิตไว้กับจำเลย โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิต มีเงื่อนไขว่า ถ้าสามีโจทก์ถึงแก่ความตายโดยอุบัติเหตุ จำเลยจะใช้เงินเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนที่เอาประกันในระหว่างอายุสัญญา สามีโจทก์เป็นลมล้มลงศรีษะฟาดพื้นสมองได้รับความกระทบกระเทือนถึงแก่ความตาย ดังนี้ เห็นได้ว่าผู้ที่ตายเป็นลมหกล้มเป็นเรื่องเกิดขึ้นโดยบังเอิญปราศจากเจตนาและความคาดหมายของผู้ตาย จึงถือได้ว่าผู้ตายตายเพราะอุบัติเหตุตามกรมธรรม์ประกันชีวิต จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์สองเท่าตามสัญญา

คำพิพากษาฎีกาที่ 1769/2521 ผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุเดินทางไว้กับบริษัทแรกสำหรับช่วงเวลาหนึ่ง แล้วขอเลื่อนวันเดินทางไปเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่ง บริษัทยังไม่อนุมัติ กับได้ขอเอาประกันกับอีกบริษัทหนึ่ง แต่บริษัทนั้นก็ยังมิได้ตอบสนองรับแล้วผู้เอาประกันจึงได้เอาประกันกับบริษัทจำเลยอีก ดังนี้ ข้อความที่ผู้เอาประกันรับรองว่าไม่เคยเอาประกันเกี่ยวกับอุบัติเหตุ อันทำให้ถึงแก่ความตายหรือร่างกายได้รับบาดเจ็บไว้กับบริษัทอื่นก่อน เป็นข้อที่จำเลยอาจบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา แต่เมื่อเอาประกันภัยครั้งแรกเป็นคนละช่วงเวลากับที่เอาประกันกับจำเลย โดยบริษัทแรกยังมิได้อนุมัติให้เลื่อนวันเดินทางและการเอาประกันครั้งที่สองบริษัทนั้นก็ยังมิได้ตอบสนองรับจึงถือไม่ได้ว่า ผู้เอาประกันเกี่ยวกับอุบัติเหตุไว้กับบริษัทอื่นก่อนจำเลย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2218/2516 สัญญามีข้อตกลงว่า ทางสมาคมจะจ่ายเงินให้แก่ทายาทของสมาชิกเมื่อสมาชิกตาย ฝ่ายสมาชิกก็ตกลงจะส่งเงินฝากสงเคราะห์ฌาปนกิจให้แก่สมาคม โดยวิธีปฏิบัติดุจเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัยเพื่อประกันชีวิตไว้กับสมาคม เช่นนี้ สัญญาดังกล่าวว่าเข้าลักษณะสัญญาประกันชีวิตการประกอบธุรกิจของสมาคมจึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 มาตรา 12

คำพิพากษาฎีกาที่ 1002/2505 ผู้เอาประกันชีวิตถูกงูพิษกัดถึงตายโดยบังเอิญนั้น นับว่าเป็นอุบัติเหตุตามความหมายของคำว่า อุบัติเหตุ แห่งข้อสัญญาที่ว่า ต้องเป็นเหตุเนื่องมาจากร่างกายของผู้เอาประกันถูกบาดเจ็บอย่างรุนแรง จากสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกโดยบังเอิญและปราศจากเจตนาของผู้มีส่วนกระทำให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น แล้ว ผู้รับประกันชีวิตจึงต้องรับผิด

คำพิพากษาที่ 1806/2505 เมื่อผู้เอาประกันชีวิตได้ชำระเบี้ยประกันภัยแก่ผู้แทนของผู้รับประกันชีวิตภายในเวลาที่ผู้รับประกันชีวิตผ่อนเวลาให้ตามกรมธรรม์แล้ว แม้ผู้แทนนั้นจะไม่ปฏิบัติตามระเบียบของผู้รับประกันชีวิตอย่างไร ระเบียบนั้นจะเอาไปผูกมัดผู้ทำประกันชีวิตเพื่อปฏิเสธการใช้เงินตามสัญญา โดยอ้างว่าสัญญาขาดอายุเพราะผู้เอาประกันชีวิตไม่ส่งเบี้ยประกันตามกำหนดไม่ได้

3. การโอนประโยชน์แห่งสัญญาประกันชีวิต

มาตรา 891 บัญญัติว่า แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น

ถ้ากรมธรรม์ประกันภัยได้ทำเป็นรูปให้ใช้เงินตามเขาสั่งแล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติ มาตรา 309 มาใช้บังคับ

ประโยชน์ที่ควรได้จากสัญญาประกันภัยนั้นผู้เอาประกันภัยสามารถโอนต่อๆไปยังบุคคลอื่นได้กล่าวคือ

ถ้าเป็นวินาศภัย การโอนกระทำได้โดยวิธีการโอนวัตถุที่เอาประกันไปยังบุคคลภายนอกซึ่งจะเป็นผลให้สิทธิต่างๆที่ผู้เอาประกันภัยมีอยู่โอนไปยังบุคคลภายนอกด้วย ตามมาตรา 875 แต่จะโอนโดยวิธีส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้นไม่ได้ทั้งนี้ เพราะประกันวินาศภัยถือว่าสิทธิของผู้เอาประกันภัยก่อนที่จะเกิดภัยนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่ตกทอดเป็นมรดกและโอนกันไม่ได้ เว้นแต่จะกระทำโดยการโอนวัตถุที่เอาประกันภัยไปด้วยดังกล่าว[2]

สำหรับการประกันชีวิต ถือว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตมีค่าของมันเองอยู่ในตัวซึ่งจะมีค่ามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาและเบี้ยประกันที่ได้ส่งไปแล้ว ผู้เอาประกันจึงอาจโอนกรมธรรม์นั้นให้กับบุคคลภายนอกได้ สำหรับวิธีการโอนย่อมทำได้ตามแบบของการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 คือต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นไม่สมบูรณ์ และต้องบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยเป็นหนังสือ หรือผู้รับประกันภัยยินยอมเป็นหนังสือจึงจะใช้ยันผู้รับประกันภัยได้

ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยชนิดให้ใช้เงินตามเขาสั่งได้แก่ กรมธรรม์ประเภทที่ผู้เอาประกันภัยยังไม่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ หรือยังไม่มีชื่อผู้รับประโยชน์ การโอนให้กระทำตามบทบัญญัติมาตรา 309 คือ ผู้โอนสลักหลังกรมธรรม์นั้นแล้วส่งมอบให้กับผู้รับโอนไป

ข้อจำกัดในการโอนกรมธรรม์ประกันชีวิต

กฎหมายได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า หากกรณีเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ประการนี้ ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิโอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้อื่น คือ

1. ได้ส่งมอบกรมธรรม์นั้นให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และ

2. ผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น

ข้อสังเกต ต้องเข้าเงื่อนไขทั้งสองประการด้วย สิทธิของ


[1] นักกฎหมายหลายท่านให้ความเห็นว่า การประกันชีวิตเป็นการประกันภัยอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า Insurance of Persons ซึ่งมีวัตถุที่เอาประกันภัยเป็นชีวิต ร่างกาย การประกันอวัยวะ สุขภาพ แม้จะไม่มีเงื่อนไขถึงตายก็เป็นประกันชีวิต ส่วนการกำหนดจำนวนเงินแน่นอนหรือไม่นั้นมีทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ซึ่งเรียกกรมธรรม์ชนิดนี้ว่า Valued Policy

[2] ดูจิตติ ติงศภัทิย์, หน้า 93 ซึ่งอธิบายว่า ผู้เอาประกันภัยจะโอนสิทธิเรียกร้องธรรมดาในมาตรา 303,306 ไม่ได้ เพราะสิทธิของผู้เอาประกันภัยนั้นน่าจะถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว ฉะนั้นจึงไม่ตกทอดเป็นมรดก

แต่ถ้าเกิดวินาศภัยขึ้น สิทธิเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยจะเหมือยสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ธรรมดาทั่วๆไป ย่อมโอนและตกทอดเป็นมรดกได้

No comments:

Post a Comment

Search for content in this blog.

Life Insurance