6/09/2011

มูลเหตุที่ต้องตีความกฎหมาย

มูลเหตุที่ต้องตีความกฎหมาย

สาเหตุที่ต้องมีการตีความกฎหมาย เนื่องจากถ้อยคำหรือข้อความในกฎหมายมีความหมายไม่ชัดเจน มีข้อสงสัย หรือมีความหมายหลายนัยทำให้เกิดปัญหาโต้เถียงกันจนหาข้อยุติไม่ได้ จนต้องมีการตีความกฎหมายเพื่อให้ได้ความหมายที่แท้จริงของถ้อยคำหรือข้อความนั้น

ตัวอย่าง การประกันภัยหลายรายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 870 ว่า ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อความวินาศภัยอันเดียวกัน และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้ ท่านว่าผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริงเท่านั้น ผู้รับประกันภัยแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประกันภัยไว้

อันสัญญาประกันภัยทั้งหลาย ถ้าลงวันเดียวกัน ท่านให้ถือว่าได้ทำพร้อมกัน

ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน ท่านว่าผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยไซร้ ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อ ๆ กันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ

มาตรา 870 มีที่มาจากประมวลกฎหมายพาณิชย์ของประเทศญี่ปุ่น มาตรา 387 และ 388

เมื่อพิจารณามาตรา 870 แล้ว จะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้บัญญัติชัดเจนว่าการประกันภัยหลายรายผู้เอาประกันภัยต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องตีความกฎหมายในเรื่องดังกล่าวซึ่งนักกฎหมายไทยมีความเห็น 2 ทาง

ความเห็นที่หนึ่ง คือ ผู้เอาประกันภัยในสัญญาประกันภัยแต่ละรายต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน มีนักกฎหมายที่เห็นด้วยคือ

ศาสตราจารย์พิเศษจำรัส เขมะจารุ เห็นว่าที่จะถือว่าเป็นการทำสัญญาประกันภัยไว้หลายราย จะต้องปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยในสัญญาประกันภัยแต่ละรายจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน ถ้าผู้เอาประกันภัยต่างคนกันแม้จะนำเอาวัตถุเดียวกันไปทำสัญญาประกันภัยก็ไม่ถือว่าเป็นการทำสัญญาประกันภัยไว้หลายราย เช่น แดงนำเอาตึกของตนไปประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทดำแล้วนำเอาไปประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทเหลืองอีก เช่นนี้ถือว่าเป็นสัญญาประกันภัยหลายราย แต่ถ้าแดงในฐานะเจ้าของตึกนำตึกไป ประกันภัยไว้กับบริษัทดำ ต่อมาเขียวในฐานะผู้รับจำนองตึกนำตึกนั้นไปทำประกันภัยไว้กับบริษัทเหลืองอีก เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการทำสัญญาประกันภัยหลายราย เพราะไม่ใช่คนเดียวทำแต่ต่างคนต่างทำ

ศาสตราจารย์ไชยยศ เหมะรัชตะ มีความเห็นเช่นเดียวกันว่าหลักวินิจฉัยประกันวินาศภัยหลายราย ต้องปรากฏว่าผู้เอาประกันในสัญญาประกันภัยแต่ละรายจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน

ความเห็นที่สอง คือ ผู้เอาประกันภัยในสัญญาประกันภัยแต่ละรายไม่ต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน แต่ต้องเป็นการประกันภัยเพื่อประโยชน์อันเดียวกัน นักกฎหมายที่เห็นด้วยคือ

ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ เห็นว่าถ้าผู้เช่าได้เอาประกันภัยเพื่อประโยชน์ของ ผู้ให้เช่าแล้ว ผู้ให้เช่าเอาประกันภัยอีกถือว่าเป็นการประกันภัยหลายรายในวินาศภัยอันเดียวกันตามมาตรา 870 ได้ แม้ผู้เอาประกันภัยจะเป็นคนละคนก็ตามเพราะเป็นการประกันภัยเพื่อประโยชน์อันเดียวกันคือเพื่อประโยชน์ของผู้ให้เช่า

อาจมีผู้ถามว่าทำไมไม่เขียนกฎหมายให้ดีคือให้ชัดเจนไปเลย จะได้ไม่ต้อง ตีความได้หรือไม่ ท่านศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี ได้กล่าวว่า

ถ้าหากว่าฝ่ายนิติบัญญัติสามารถล่วงรู้เหตุการณ์ ที่จะเกิดขึ้นภายหน้าได้ทุกกรณี และบัญญัติกฎหมายไว้อย่างแจ้งชัดรัดกุม ครอบคลุมทุกกรณี ก็ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องมีการตีความกฎหมายแต่เรื่องดังกล่าวเป็นการพ้นวิสัยที่จะทำได้แม้จะใช้ความพยายามอย่างใด ๆ ก็ไม่อาจทำได้

นอกจากนี้นักกฎหมายชาวอังกฤษ คือ ลอร์ด เดนนิ่ง ได้มีความเห็นเช่นเดียวกันว่าทำไมต้องตีความกฎหมายโดยให้เหตุผลว่า

การที่กฎหมายตราไว้โดยมีความหมายไม่แน่นอน หรือเคลือบคลุมนั้นก็เพราะเราจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า ผู้บัญญัติกฎหมายเองก็เป็นปถุชน ซึ่งไม่อาจจะเล็งเห็นข้อเท็จจริงอันสลับซับซ้อน ซึ่งจะเกิดเป็นกรณีพิพาทขึ้นในภายภาคหน้า หรือแม้ว่าอาจที่จะเล็งเห็นได้ ก็เป็นเรื่องพ้นวิสัยที่จะบัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมกรณีเหล่านั้นทั้งหมดอย่างปราศจากความเคลือบคลุม[1]

เมื่อพิจารณาจากเหตุผลของนักกฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสองท่านแล้ว คงพอสรุปได้ว่าการที่ต้องตีความกฎหมายก็เพราะในขณะที่เขียนกฎหมาย ผู้ร่างไม่รู้อนาคตว่าอีก 20 ปี หรือ 30 ปี จะมีความยุ่งยากหรือปัญหาในเรื่องการตีความ ซึ่งสืบเนื่องมาจากถ้อยคำที่ใช้ในตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั่นเอง



[1]ธานินทร์ กรัยวิเชียร, การตีความกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2539.

No comments:

Post a Comment

Search for content in this blog.

Life Insurance