6/09/2011

บุคคลที่เกี่ยวข้องในสัญญาประกันภัย ม. 862 บัญญัติว่า “ตามข้อความในลักษณะนี้ คำว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้” คำว่า

บุคคลที่เกี่ยวข้องในสัญญาประกันภัย

ม. 862 บัญญัติว่า ตามข้อความในลักษณะนี้

คำว่า ผู้รับประกันภัย ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้

คำว่า ผู้เอาประกัน ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คำว่า ผู้รับประโยชน์ ท่านหมายความว่า บุคคลผู้พึงจะได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจำนวนเงินใช้ให้

อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้

1. ผู้รับประกันภัย กฎหมายบัญญัติให้การประกอบธุรกิจประกันภัยกระทำในรูปบริษัทที่จดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจนี้เท่านั้น ถ้ามีผู้รับประกันภัยในลักษณะเป็นการค้ามิใช่บริษัทและไม่ได้รับอนุญาต ย่อมเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย ถือเป็นโมฆะ ตามม. 150

ฎ 1106/2516 การที่สมาชิกสมาคมต้องชำระค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปีไปและต้องชำระเงินช่วยการกุศลแรกเข้ากับต้องชำระเงินค่าช่วยในการทำศพให้แก่สมาชิกที่ถึงแก่กรรม เมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม ทายาทมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากสมาคม ตามจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดในวันที่สมาชิกถึงแก่กรรม โดยสมาคมหักร้อยละ 20 เงินที่สมาชิกชำระมีลักษณะเป็นเบี้ยประกันและสมาคมจ่ายเงินให้อาศัยความมรณะของสมาชิก การดำเนินกิจการของสมาคมจึงมีลักษณะเป็นการประกันภัย

2. ผู้เอาประกันภัย ได้แก่คู่สัญญาที่ตกลงกันจะส่งเบี้ยประกันและมีเจตนาเข้าผูกพันเป็นคู่สัญญาด้วย นอกจากนี้ผู้เอาประกันภัยอาจให้ผู้อื่นออกหน้าเป็นตัวการเข้าทำสัญญาประกันภัยก็ได้ เช่น

ฎ. 656/2521 โจทก์เช่าซื้อรถพิพาทจากห้าง ส. ตามระเบียบของห้าง ส. นั้น รถที่เช่าซื้อทุกคันจะต้องเอาประกันภัยไว้ในนามของห้าง โดยผู้เช่าซื้อเป็นผู้จ่ายเงินเบี้ยประกัน ห้าง ส. แนะนำลูกค้าให้บริษัทประกันภัย และบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าคอมมิชชั่นแก่ห้าง โจทก์ติดต่อกับบริษัทจำเลยเอาประกันภัยรถพิพาท แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะระบุนามผู้เอาประกันภัยว่าห้าง ส. แต่ก็วงเล็บชื่อโจทก์ต่อท้ายไว้ด้วย และระบุที่อยู่ของโจทก์เป็นที่อยู่ของผู้เอาประกันภัย การที่มีชื่อห้าง ส. ในกรมธรรม์ก็เพราะเป็นการสะดวกแก่การที่จำเลยจะมาเก็บเงิน และเพื่อห้าง ส. จะได้ค่าคอมมิชชั่น โดยโจทก์นำเงินเบี้ยประกันมาฝากที่ห้าง ส. เพื่อชำระให้จำเลย จำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัย เพราะหลังจากที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว ห้าง ส. ก็มิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันต่อไปอีก ดังนั้น เมื่อรถพิพาทชนกับรถอื่นได้รับความเสียหายในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ( หลังจากที่ได้ชำระค่าเช่าซื้อครบแล้ว ) โจทก์ขอเงินชดใช้ตามกรมธรรม์เป็นค่าซ่อมรถ จำเลยเพิกเฉย โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจจะฟ้องจำเลย

หากได้ความเพียงว่าเป็นผู้ส่งเงินเบี้ยประกันเท่านั้น อาจไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย เช่น ห้าง ก. ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กับบริษัทประกันภัย โดยมีนาย ข. เป็นผู้เช่าซื้อรถจากห้าง ก. และเป็นผู้ออกเบี้ยประกันตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ นาย ข. ไม่ใช่ผู้เอาประกันตามม. 862 เป็นเพียงผู้กระทำการแทนห้าง ก. ซึ่งเป็นตัวการตามม. 820 จึงถือว่าห้าง ก.เป็นผู้เอาประกัน (ฎ 5/2527)

บุคคลแม้มิได้ลงชื่ออาจถือเป็นคู่สัญญาต้องรับผิด หรือผูกพันในฐานะคู่สัญญา หากพฤติการณ์ฟังได้ว่าเป็นตัวการตัวแทนกัน

ฎ 1968/2523 ก. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์แต่ใส่ชื่อ ข.เป็นเจ้าของในทะเบียนและให้ ข. นำรถยนต์ไปประกันภัยค้ำจุนกับบริษัท ค. จึงถือได้ว่า ก. เป็นตัวการเชิด ข. ให้เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยตาม ม. 821 และถือเท่ากับว่า ก. เข้าทำสัญญากับบริษัท ค. เอง

3. ผู้รับประโยชน์ ถ้าเป็นบุคคลเดียวกับผู้เอาประกันภัยก็มีสิทธิเรียกร้องประโยชน์จากผู้รับประกันภัยได้ทันทีในฐานะคู่สัญญา แต่ถ้าผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลภายนอกต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากผู้รับประกันเสียก่อนจึงจะมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกัน ตามม. 374 วรรค 2 การแสดงเจตนาไปยังลูกหนี้สามารถทำได้โดยทำเป็นหนังสือ วาจา เมื่อผู้รับประกันทราบเจตนาแล้ว สิทธิของผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับชำระหนี้ย่อมเกิดขึ้นทันทีโดยผลของกฎหมาย และเมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดขึ้นแล้ว คู่สัญญาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ตาม ม. 375 แต่ถ้ายังไม่มีการแสดงเจตนาต่อผู้รับประกันภัย ในระหว่างนี้คู่สัญญาประกันภัยสามารถเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ได้

ถาม ถ้าผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่แสดงเจตนาเข้าถือประโยชน์ ในระหว่างนั้นมีเหตุเกิดขึ้นตามเงื่อนไขในสัญญา หากผู้รับประกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันไปแล้ว ภายหลังผู้รับประโยชน์จะมาแสดงเจตนาเข้าถือสิทธิได้หรือไม่

ตอบ ไม่ได้ เพราะถือว่าสิทธิได้ถูกเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงระหว่าง ผู้เอาประกันและผู้รับประกัน ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้รับประโยชน์ทราบ ตามม. 375

ฎ. 1950 / 2543 โจทก์นำรถยนต์คันที่หายเอาประกันไว้กับจำเลยโดยระบุให้ บริษัท ก. เป็นผู้รับประโยชน์ เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก สิทธิของบุคคลภายนอกจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญา ตราบใดที่ยังมิได้แสดงเจตนาดังกล่าว คู่สัญญาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นได้ เมื่อ บริษัท ก. ฟ้องโจทก์ให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ แสดงว่าได้สละเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยจึงเป็นคู่สัญญามีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากสัญญาซึ่งกันและกันตามหลักทั่วไป และโจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเองได้ จึงมีอำนาจฟ้อง

ฎ. 132 /2540 โจทก์เช่าซื้อรถบรรทุกจากบริษัท ก. บริษัท ก. จัดการให้โจทก์เอาประกันภัยกับจำเลย โดยระบุให้บริษัท ก. เป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงเป็นคู่สัญญาประกันวินาศภัยกับจำเลย

โดยมีบริษัท ก. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 862 เมื่อบริษัท ก. มิได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัย สิทธิของบุคคลภายนอกจึงยังไม่เกิดตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อรถบรรทุกพลิกคว่ำได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยได้โดยบริษัท ก. ไม่จำต้องโอนสิทธิเรียกร้องหรือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้อง

No comments:

Post a Comment

Search for content in this blog.

Life Insurance