เงินสำรองประกันภัย
ที่มาของเงินสำรองประกันภัย
อัตราเบี้ยประกันภัยและจำนวนเงินเอาประกันภัยคำนวณโดยใช้ตารางมรณะ คือ ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยแตกต่างกันตามอายุ เพราะเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น โอกาสที่จะตายย่อมมีมากขึ้นด้วย ตามธรรมชาติของคนแล้วเมื่ออายุมากขึ้นความสามารถในการประกอบอาชีพย่อมลดน้อยถอยลง ทำให้ไม่สามารถที่จะจ่ายเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นทุกปีได้ ดังนั้นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจึงคิดวิธีการแก้ปัญหา โดยให้อัตราเบี้ยประกันเท่ากันทุกปีแทนอัตราเบี้ยประกันที่เพิ่มขึ้นทุกปีตามอายุของผู้เอาประกันดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเบี้ยประกันที่ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเท่ากันทุกปีนี้เรียกว่า "เบี้ยประกันคงที่" (Level Premium) ผลของระบบการเก็บเบี้ยประกันคงที่นี้เอง ทำให้เกิดระบบเงินสำรองประกันภัยขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากบุคคลที่อยู่ในวัยฉกรรจ์เป็นวัยที่มีความสามารถในการทำงานสูง มีระดับรายได้ดี และมีโอกาสที่จะมรณะต่ำ ดังนั้นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยจึงคำนวณเบี้ยประกันที่บุคคลในวัยนี้ต้องชำระให้มากเกินกว่าที่จะต้องชำระตามระดับอายุของตน เพื่อนำเงินส่วนเกินนี้ไปชดเชยในระยะหลัง ๆ ที่ผู้เอาประกันมีอายุมากขึ้น แต่จะเสียเบี้ยประกันต่ำกว่าระดับอายุของตน
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของบริษัทประกันชีวิตที่จะต้องรับผิดชอบในการสะสมเงินส่วนเกินไว้เป็นเงินสำรอง และนำเงินสำรองนี้ไปลงทุนเพื่อหาดอกผลด้วยการซื้อพันธบัตร ซื้อจำนอง ซื้อหุ้น หรืออื่น ๆ ตามขอบเขตที่กฎหมายอนุญาต จึงทำให้จำนวนเงินสำรองประกันภัยเพิ่มพูนขึ้นจนเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้กับ ผู้เอาประกันในปีหลัง ๆ ได้
ปัจจัยที่กำหนดจำนวนเงินสำรองประกันภัย
ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดจำนวนเงินสำรองประกันภัยของแบบประกันชีวิตแต่ละแบบว่าจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับ
- จำนวนเงินเอาประกัน กรมธรรม์ที่มีจำนวนเงินเอาประกันสูงจะมีจำนวนเงินสำรองประกันภัยสูงกว่ากรมธรรม์ที่มีจำนวนเงินเอาประกันต่ำ
- อายุของผู้เอาประกันเมื่อเริ่มทำสัญญา ในแบบประกันชีวิตแบบเดียวกัน ผู้เอาประกันที่มีอายุมากจะเสียเบี้ยประกันสูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อย เนื่องจากผู้ที่มีอายุมากจะมีอัตรามรณะสูง บริษัทจึงต้องสำรองเงินไว้มากกว่า
- ระยะเวลาที่สัญญามีผลบังคับ ในแบบประกันชีวิตแบบเดียวกัน หากผู้เอาประกันมีอายุเท่ากัน ผู้ที่เอาประกันก่อนหรือระยะเวลาของสัญญาที่มีผลบังคับนานกว่าจะมีเงินสำรองประกันภัยมากกว่าผู้ที่เพิ่งเริ่มเอาประกันชีวิต
- แบบของกรมธรรม์ กรมธรรม์แบบที่ให้ผลประโยชน์ด้านการออมทรัพย์สูงจะมีเบี้ยประกันสูงกว่าแบบที่ให้ผลประโยชน์ด้านการออมทรัพย์น้อย ดังนั้นแบบที่ให้ผลประโยชน์สูงจึงมีเงินสำรองประกันภัยมากกว่าแบบที่ให้ผลประโยชน์ต่ำ
- อัตราดอกเบี้ย ในการคำนวณเงินสำรองประกันภัย หากใช้อัตราดอกเบี้ยสูงจะทำให้เงินสำรองประกันภัยต่ำ ในทางกลับกันหากใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำจะทำให้เงินสำรองประกันภัยสูง
- ระยะเวลาการชำระเบี้ย ในกรมธรรม์ที่ให้ผลประโยชน์เท่ากัน กรมธรรม์ที่มีระยะเวลาการชำระเบี้ยประกันยาวจะมีเงินสำรองประกันภัยน้อยกว่ากรมธรรม์ที่มีระยะเวลาการชำระเบี้ยประกันภัยสั้น เนื่องจากชำระเบี้ยประกันภัยน้อยกว่า
- ตารางมรณะ หากบริษัทประกันภัยใช้ตารางมรณะที่มีอัตราการตายสูง จำนวนเงินสำรองประกันภัยจะสูงกว่าการใช้ตารางมรณะที่มีอัตราการตายต่ำ
No comments:
Post a Comment